โควิดขาขึ้น "หมอยง" ไขข้อสงสัยควรฉีดเข็มกระตุ้น หรือรอวัคซีนตัวใหม่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ไขข้อสงสัยวัคซีนโควิด-19 ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ หรือรอวัคซีนตัวใหม่ ในช่วงโควิดขาขึ้น

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 หมอยง หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า โควิด 19 ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นหรือไม่ หรือจะรอวัคซีนตัวใหม่

 

โควิดขาขึ้น "หมอยง" ไขข้อสงสัยควรฉีดเข็มกระตุ้น หรือรอวัคซีนตัวใหม่

การระบาดของโควิด-19 เป็นไปตามฤดูกาล ในรอบของปี ในระลอกนี้ การระบาดจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา และจะขึ้นสูงสุดหลังปีใหม่หรือเดือนมกราคม และจะไปเริ่มลดลงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนเหลือน้อยมากในเดือนมีนาคม และจะไปขึ้นการระบาดรอบใหม่ของปีในฤดูฝนหรือเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน เป็นไปตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ


ขณะนี้การระบาดอยู่ในขาขึ้นตามทิศทางของฤดูกาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นในขณะนี้ แทนที่จะรอไปถึงเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ขาลง


วัคซีนในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์เดิม การกระตุ้นในระดับเซลล์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค สามารถทำได้ดีมาก วัคซีนตามสายพันธุ์ ถึงแม้จะมีการเพิ่มขึ้นมา จะป้องกันการติดเชื้อ เพราะเป็นแอนติบอดี้ หรือ B cell และเมื่อภูมิขึ้นมาแล้วก็ลดลง และเมื่อลดลงถึงระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไร ก็เกิดการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพในการป้องกันการติดเชื้อ

 

โควิดขาขึ้น "หมอยง" ไขข้อสงสัยควรฉีดเข็มกระตุ้น หรือรอวัคซีนตัวใหม่

การลดความรุนแรงของโรคจึงขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ฉีด มากกว่าชนิดของวัคซีนที่ฉีด แน่นอนการให้วัคซีนแต่ละครั้งควรมีระยะเวลาห่างกัน โดยทั่วไปในเข็มกระตุ้นยิ่งห่างยิ่งดี แต่ข้อเสียก็คือว่าถ้าห่างเกินไป จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนได้อย่างน้อย 3 เข็ม และถ้าจะฉีดเข็มที่ 4  ก็ควรห่างไป 4-6 เดือน และถ้าได้ 4 เข็มแล้ว มานานมาก เช่น เกิน 6 เดือนไปแล้ว จะให้เข็มที่ 5 ก็ไม่ว่ากัน เพราะเมื่อนานแล้วภูมิคุ้มกันก็จะลดลงไปเป็นจำนวนมาก การกระตุ้นก็เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานทั้งแอนติบอดีและระดับเซลล์ 


เมื่อโควิด-19 อยู่ขาขึ้น เราจึงควรจะรีบให้วัคซีน แทนที่จะไปรอวัคซีนตัวใหม่ หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ที่กว่าจะเข้ามาก็อยู่ในขาลงของโควิด-19 เราไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีน 


การกลายพันธุ์ของไวรัส จะกลายพันธุ์ในส่วนของหนามแหลม ที่เป็นส่วนในการป้องกันการติดเชื้อ และ ตลอดปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเราก็ยังเป็น โอมิครอน แต่จะแตกต่างในกลุ่มย่อย เป็น BA.1, BA.2, BA.2.75, BA.4, BA.5 ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ (จากการศึกษาด้วยการเจาะเลือดที่ชลบุรี) ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อร่วมกับภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน ถือเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสมที่ดีมาก และใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่สุด


ส่วนการกลายพันธุ์ที่ออกไปมากอย่างที่มีข่าว เดลตาครอน ไม่ได้มีปัญหาในประเทศไทย การระบาดที่เกิดขึ้นยังเป็นโอมิครอน อยู่ จึงยังไม่ได้หลีกหนีภูมิต้านทานของประชากรส่วนใหญ่ไปมาก ไม่ได้น่าวิตกแต่อย่างใด ดังนั้นขณะนี้อยู่ในขาขึ้นตามฤดูกาล ควรได้รับวัคซีนในการป้องกันที่เหมาะสม ที่มีอยู่ในบ้านเรา และจะไม่รอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่

 

ขอบคุณ Yong Poovorawan

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline