- 14 ธ.ค. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจง ประเด็น "เมฆประหลาด" โผล่น่านฟ้าอุดรธานี
จากกรณี "เมฆประหลาด" บนท้องฟ้าที่อุดรธานี จนเป็นกระแสข่าวที่ถูกแชร์ออกไปจำนวนมา ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว ว่า
มีคำถามทางบ้าน ว่านี่เมฆอะไร ? ทำไมเป็นริ้วๆ ? มาจากท้องฟ้าที่อุดรธานี
เท่าที่เช็ครูปจากในเน็ต น่าจะจัดอยู่ในพันธุ์เมฆ "เรดิเอตัส Radiatus" หรือเมฆแผ่รังสี ตามรายงานข่าวที่ ดร.ชิว (ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ จากชมรมคนรักมวลเมฆ) เคยให้ข้อมูลไว้นะครับ
ดร.ชิว (รุ่นพี่ผม) ให้ข้อมูลไว้ว่า หากเมฆจัดเรียงตัวเป็นแนวขนานกันบนฟ้า และแนวเมฆยาวมากเพียงพอ เมื่อมองจากบางมุม แนวเมฆจะดูเหมือนพุ่งออกมาจากจุดใดจุดหนึ่งที่ปลายฟ้า เนื่องจากลักษณะเพอร์สเปกทีฟ (perspective) ชื่อพันธุ์เมฆเรดิเอตัสนั้น เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา radiare หมายถึง แผ่รังสี ตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ radiate นั่นเอง แนวของเมฆ อาจเรียงขนานกันค่อนข้างเนี้ยบ หรืออาจจะบิดโค้งได้บ้าง แต่โดยรวม จะดูขนานล้อกันไป {ดูเทียบภาพเมฆเรดิเอตัส คลิก}
หากไล่ระดับความสูงบนท้องฟ้า จากต่ำไปสูง เมฆพันธุ์เรดิเอตัส สามารถเกิดในเมฆสกุลต่างๆ ได้ 5 สกุล ได้แก่ สกุล คิวมูลัส (Cumulus) สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส (Altostratus) และ ซีร์รัส (Cirrus)
- ถ้าเป็นเมฆ คิวมูลัส เรดิเอตัส (Cumulus radiatus) จะเห็นเป็นเมฆก้อนเล็กๆ เรียงตัวเป็นแนวขนานกัน ค่อนข้างเป็นระเบียบ บางครั้งฝรั่งเรียกง่ายๆ ว่า “cloud street” หรือ “ถนนเมฆ”
เว็บ International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า เมฆก้อนคิวมูลัสที่มักจะแสดงลักษณะเรดิเอตัส มักจะเป็นคิวมูลัส มีดิโอคริส (Cumulus mediocris) คำว่า mediocris หมายถึงเมฆก้อนคิวมูลัสขนาดกลาง (ลองนึกถึงคำว่า medium-sized ก็ได้)
ในเชิงวิชาการ Cumulus radiatus หรือ cloud street เกิดจากการที่กระแสอากาศหมุนวนเป็นม้วนยาวๆ ขนานกันบริเวณผิวพื้น เรียกว่า Horizontal Convective Rolls (HCRs)
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline