- 15 ธ.ค. 2565
หมอธีระ ชี้โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ผลวิจัยพบติดแล้วเชื้อกระจายทุกระบบในร่างกาย แนะรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดวันที่ 15 ธ.ค. 2565 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 457,849 คน ตายเพิ่ม 887 คน รวมแล้วติดไป 655,316,955 คน เสียชีวิตรวม 6,663,368 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.86 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.22
WHO ประเมินจำนวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
Msemburi W จากองค์การอนามัยโลก และทีมงาน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารระดับโลก Nature เมื่อวานนี้ 14 ธันวาคม 2565 โดยประเมินว่า จำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่รายงานทั่วโลกนั้นต่ำกว่าจำนวนเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง โดยพบว่ามีจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess deaths) จากทุกสาเหตุซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2020-2021 สูงถึง 14.83 ล้านคน จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินดังกล่าวนั้น สูงกว่าตัวเลขเสียชีวิตจากโควิดที่มีในระบบรายงานในช่วง 2 ปีแรกของการระบาด (5.42 ล้านคน) ถึง 2.74 เท่า
ผลการศึกษาข้างต้น ก็สอดคล้องกับข้อมูลจากประเทศต่างๆ ที่ได้นำเสนอมาให้เห็น เช่น สิงคโปร์ ที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราเสียชีวิตส่วนเกินนั้นเกิดกับกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการติดเชื้อมีส่วนที่ทำให้โรคประจำตัวต่างๆ รุนแรงและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
สำหรับไทยเรานั้น ข้อมูล Ourworldindata ชี้ให้เห็นสถานการณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตส่วนเกินที่สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดสองปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ระลอกสองจนถึงปัจจุบัน และเห็นชัดเจนหลังจากเดลต้าและ Omicron ระบาด สอดคล้องกับข่าวประจำวันจากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอให้รับรู้ได้ว่ามีคนเสียชีวิตที่บ้าน ที่ป้อม หรืออื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้อยู่ในระบบรายงานเสียชีวิตจากโควิด
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ถือเป็นเรื่องจำเป็น รู้เท่าทันสถานการณ์รอบตัว จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
อัพเดตความรู้โควิด-19 จาก NIAID NIH สหรัฐอเมริกา
Stein SR และคณะ จาก National Institute of Allergy and Infectious Diseases, National Institute of Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Nature วันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยทำการศึกษาในศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 44 คน
สาระสำคัญคือ ตรวจพบไวรัสกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ทุกระบบในร่างกาย โดยสามารถตรวจพบในศพของผู้เสียชีวิตนานสุดถึง 8 เดือน (230 วัน) หลังจากที่ติดเชื้อและมีอาการ ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เห็นว่า การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา แต่มีลักษณะเป็นการติดเชื้อที่กระจายไปได้ทั่วทุกระบบในร่างกาย ทั้งนี้คณะผู้วิจัยประเมินว่า กลไกการติดเชื้อทั่วทุกระบบเช่นนี้น่าจะสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องภาวะ Long COVID ซึ่งพบในผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกหลังจากหายจากการติดเชื้อช่วงแรก และจำเป็นต้องต่อยอดการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ Long COVID เพื่อหาทางดูแลรักษาต่อไป
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด สถานการณ์ระบาดในไทยมีการติดเชื้อกันมากในแต่ละวัน ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข็มสุดท้ายนานเกิน 6 เดือนไปแล้ว เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลือกใช้บริการร้านอาหารกินดื่ม ที่มีพนักงานใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างระหว่างบริการ และไม่แออัด ที่สำคัญมากคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ปิดปาก ปิดจมูก ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ขอบคุณ Thira Woratanarat
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline