- 28 ธ.ค. 2565
หมอธีระ เปิดข้อมูลงานวิจัยจากญี่ปุ่น ชี้กลุ่มคนเคยติดโควิด มีความเสี่ยงป่วยจากโรคนี้ กว่าคนไม่ติดเชื้อหลายเท่า
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดวันที่ 28 ธ.ค. 2565 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน โดยระบุว่า 28 ธันวาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 368,543 คน ตายเพิ่ม 622 คน รวมแล้วติดไป 662,445,284 คน เสียชีวิตรวม 6,687,862 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.71 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.71
ซุปสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ทั่วโลก
ลูกหลาน Omicron
ข้อมูลล่าสุดจาก Rajnarayanan R มหาวิทยาลัยอาร์แคนซัสสเตท สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า Omicron แตกหน่อต่อยอด กลายพันธุ์ไปกว่า 653 สายพันธุ์ย่อยแล้ว
การระบาดในออสเตรเลีย
มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อยกระจายไปในแต่ละพื้นที่ เช่น BR.2.1 พบ 18%, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ และแทสมาเนีย, XBF พบ 22% ในรัฐวิคตอเรีย เซาธ์ออสเตรเลีย และแทสมาเนีย, BQ. พบ 21% กระจายทั่วไป, CH.1.1 พบ 9% โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในควีนสแลนด์
งานวิจัยจากญี่ปุ่นเกี่ยวกับความเสี่ยงหลังจากติดโควิด-19
Hirata T จาก Nagoya Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาผ่านทาง NHK เมื่อวานนี้ 27 ธันวาคม 2565 โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงหลังเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรราว 1.25 ล้านคน ตลอดช่วงการระบาด 6 ระลอกที่ผ่านมา พบว่าไม่ว่าจะระลอกใดก็ตาม กลุ่มคนที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรัง สูงกว่าประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อหลายเท่า ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ และเบาหวาน
บทเรียนการบริหารจัดการวัคซีนและยาในดินแดนอันไกลโพ้น
ในปีที่แล้ว 2564 คงจดจำผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ยาเป็นอาวุธสำคัญในการดูแลรักษาเวลาเจ็บป่วย วัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันโรค ลดเสี่ยงต่อป่วยรุนแรง เสียชีวิต และความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ทั้งยาและวัคซีนนั้นเป็นอาวุธสำคัญยิ่งที่จะใช้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิต ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆ ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งยามวิกฤติโรคระบาดที่ยังไม่สงบ
ยาและวัคซีนที่เลือกนำมาใช้ จึงต้องมีการตัดสินใจโดยข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับ และที่สำคัญคือการตัดสินใจระดับนโยบายนั้นต้องทันต่อเวลา เพื่อให้ได้ยาและวัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพมาใช้ได้อย่างทันต่อสถานการณ์ เพียงพอ และทุกคนเข้าถึงได้
สถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและอนาคตนั้น ทราบกันดีว่าสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นมานั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิมอย่างมาก และระงับยับยั้งภูมิคุ้มกันระดับเซลล์อย่าง CD8 T cells ด้วย ทำให้เกิดการแพร่ได้มากขึ้นง่ายขึ้น
วัคซีนที่แต่ละประเทศควรพิจารณานำมาใช้จึงควรอัพเดตให้ทันต่อสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ประเทศพัฒนาแล้วทั้งอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ และอื่นๆ ได้มีการนำวัคซีน Bivalent มาใช้นานหลายเดือนแล้ว เพื่อหวังจะเป็นพื้นฐานทำให้ประชากรในประเทศยืนหยัดอยู่กับโควิดไปได้ควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน
งานวิจัยมากมายหลายชิ้นชี้ให้เห็นแล้วว่า Bivalent vaccines จะช่วยกระตุ้นระดับแอนติบอดี้ต่อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า นอกจากนี้ข้อมูลจากประเทศต่างๆ ที่ใช้วัคซีนใหม่นี้ก็ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยได้ดี
การเงื้อง่าท่ามกลางวิกฤติ จะเกิดผลกระทบและความสูญเสียตามมาในอนาคตได้ หากไม่เรียนรู้บทเรียนตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมาว่าการตัดสินใจนโยบายนั้นสำคัญมาก
หากการเงื้อง่านั้นมีปัจจัยเรื่องความคุ้มค่าหรืออื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงต้องถึงเวลาที่ควรเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างแก่สาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกชีวิตในสังคมและน่าจะถึงเวลาเรียกร้องให้ปลดล็อคกลไกการจัดซื้อจัดหา ให้ทุกภาคส่วนมีสิทธิในการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline