เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมบังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด เริ่มพรุ่งนี้ 9 มกราคม 2566 เช็กมีเกณฑ์อะไรบ้าง

กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมใช้ "ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 20 ฐานความผิด" หรือ "ตัดแต้มใบขับขี่" หากถูกตัดเหลือ 0 คะแนนถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน กรณีค้างจ่ายค่าปรับตามใบสั่งถูกตัดแต้มเช่นกัน เป้าหมายเพื่อเป็นเสริมสร้างวินัยจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 นี้ 

 

เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจงรายละเอียด 6 ข้อ เกี่ยวกับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจร ดังนี้

1. ขับรถต้องมีใบขับขี่ โดยผู้ขับขี่ทุกคนมี 12 คะแนน

2. ทำผิดกฎจราจรใน 20 ฐานความผิด หรือไม่ชำระค่าปรับจราจร ถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1-4 คะแนนขึ้นอยู่กับความผิด

3.หากถูกตัดคะแนนเหลือ 0 ถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน

4.ฝ่าฝืนขับรถในช่วงถูกพักใช้ใบขับขี่ จำคุก 3 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

5.คืนคะแนนได้ด้วยการอบรมกับกรมการขนส่งทางบก หรือรอให้ครบ 1 ปี จะได้คะแนนคืนโดยอัตโนมัติ

6.หากถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายในรอบ 3 ปี อาจถูกพักใช้ใบขับขี่มากกว่า 90 วัน และหลังจากนั้นภายใน 1 ปี หากถูกตัดคะแนนอีกจนถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภท

 

เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง


ข้อหาที่ถูกตัด 1 คะแนน

- ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

- ไม่สวมหมวกกันน็อก

- ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

- ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด

- ขับรถบนทางเท้า

- ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

- ไม่หลบรถฉุกเฉิน

- ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว

- ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข

- ไม่ติดป้ายภาษี


ข้อหาที่ถูกตัด 2 คะแนน

- ขับรถฝ่าไฟแดง

- ขับรถย้อนศร

- ขับรถในระหว่างโดยพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่


ข้อหาที่ถูกตัด 3 คะแนน

- ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ

- ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา

- ขับรถชนแล้วหนี


ข้อหาที่ถูกตัด 4 คะแนน

- เมาแล้วขับ

- ขับรถในขณะเสพยาเสพติด

- แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต

- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น
 

เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง

เงื่อนไขการตัดคะแนนใบขับขี่

การตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนคะแนนที่กำหนดของแต่ละข้อหา สำหรับการกระทำผิดในแต่ละครั้ง แต่หากเป็นกรณีที่กระทำผิดครั้งเดียวและเป็นความผิดหลายข้อหาให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนคะแนนที่กำหนดของแต่ละข้อหา แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 คะแนน
เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทุกชนิดคราวละ 90 วัน


วิธีการตัดคะแนน

จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง


การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่

หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156

หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน และหากยังถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่


การคืนคะแนน

1. การคืนคะแนนอัตโนมัติ คะแนนที่ถูกตัดไปในแต่ละครั้ง จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งนั้นๆ เว้นแต่เป็นกรณีที่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ โดยได้รับคืนเพียง 8 คะแนน

2. การคืนคะแนนโดยวิธีการเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบก อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมี 2 กรณี

- กรณีที่คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ แต่อบรมได้เพียงปีละ 2 ครั้ง

- กรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1. กรณีเป็นการอบรมครั้งที่ 1 ในรอบปี คะแนนที่ได้รับคืนมาจะมีคะแนนรวมไม่เกิน 12 คะแนน

2. กรณีเป็นการอบรมครั้งที่ 2 ในรอบปี  คะแนนที่ได้รับคืนมาจะมีคะแนนรวมไม่เกิน 6 คะแนน

3. ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ มีสิทธิได้รับคืนคะแนนจากการอบรมเพียงปีละ 2 ครั้ง


โดยผู้ประสงค์เข้ารับการอบรมและทดสอบ เพื่อขอคืนคะแนน สามารถแจ้งความประสงค์พร้อมหลักฐานใบอนุญาตขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชน ณ กรมการขนส่งทางบก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (อาคาร 8) หรือ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด ทุกจังหวัด


นอกจากนี้ในส่วนชำระค่าปรับตามใบสั่งนั้น ธนาคารกรุงไทย  ได้พัฒนาระบบบริการรับชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” และ “เป๋าตัง” โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถชำระค่าปรับใบสั่งผ่านทางเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน (e-Ticket) https://ptm.police.go.th ด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต พร้อมบริการตรวจสอบแต้มจราจรผ่านระบบออนไลน์


นอกจากนี้ ในส่วนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาแอป ขับดี (KHUB DEE)” สำหรับตรวจสอบแต้มใบขับขี่ ผ่านทางสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต


ช่องทางการตรวจสอบคะแนน


1. เว็บไซต์ E-Ticket PTM ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ และตรวจสอบสถานะใบขับขี่


2. แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ตอนนี้มีเฉพาะบน App Store


ช่องทางชำระค่าปรับ ใบสั่งใบขับขี่

- ผ่านทางเว็บไซต์ E-Ticket PTM

- แอปเป๋าตัง

- แอป Krungthai Next

 

เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง

 

เริ่ม 9 ม.ค. บังคับใช้ระบบ "ตัดแต้มใบขับขี่" ใน 20 ฐานความผิด มีเกณฑ์อะไรบ้าง

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline