- 13 ก.พ. 2566
"หมอลิลลี่" เคลื่อนไหวล่าสุด มีคนตกเป็นเหยื่อกันเพียบ บางรายหนักถึงขั้นโดนไป 600,000กว่าบาท ทวงถามแบงค์ควรทำอะไรให้หน่อยไหม
กรณี "หมอลิลลี่"แพทย์หญิง วรัญญา งานทวี ออกมาเตือนภัยผ่านเฟซบุ๊ค Varanya Nganthavee กับภัยมิจฉาชีพออนไลน์ที่เจอกับตัวเอง ต้องสูญเงินนับแสนไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัว หลังจากที่ บัตรเครดิตถูกหักค่ายิงแอดโฆษณาแอปดัง เตือนใครถือบัตรธนาคารเดียวกัน ใบเดียวกันให้ระวังกันด้วยตอนนี้มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก เคสหนักสุดสูญเงินไป6แสนบาท กับบัตร BBL platinum leader
ซึ่งความคืบหน้า หมอลิลลี่ โพสต์ล่าสุดมีคนส่งข้อความมาบอก โดนไป 600,000กว่าบาท แบงค์เดียวกันกับที่เราและเหยื่อรายอื่นๆ โดนเมื่อวานเหมือนกัน แบงค์ควรทำอะไรให้หน่อยมั้ยยย อย่างน้อย hold ยอดให้เห้อออ ผู้เสียหายเยอะมากแล้ว
สรุป มีคนโดนไปเยอะมาก dm มาหาเรา
ยอด100,000 เหมือนเรา ยอด 200,000กว่าๆ ยัน 600,000 มีเยอะมาก ควรจัดการสักที !!! โดนวันเดียวกัน เวลาใกล้ๆ กันหมด แบงค์เดียวกันหมด จาก tiktok ads ไรไม่รู้ เหมือนกันหมด ไม่ได้ผูกบัตรไว้กับ แอป tiktok และผู้เสียหายหลายคน ไม่ได้มีapp tiktokด้วยซ้ำค่ะ
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์ เตือนภัยบัตรเครดิตถูกหักเงินชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนี้
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายรายแจ้งว่าบัตรเครดิตของตนถูกหักเงินไปชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น กรณีของผู้เสียหายรายหนึ่งถูกหักเงินจากบัตรเครดิตไปชำระค่าโฆษณาของแอปพลิเคชัน TikTok กว่า 7,000 บาท หรือผู้เสียหายอีกกรณีถูกหักเงินจากบัตรเครดิตไปชำระค่าโฆษณาแอปพลิเคชัน Facebook กว่า 18,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งทั้งสองกรณีผู้เสียหายยืนยันว่าไม่ได้ทำธุรกรรมดังกล่าว ไม่เคยผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปพลิเคชันใดๆ และในการถูกหักเงินออกจากบัตรเครดิตก็ไม่ได้รับรหัส OTP เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม รวมไปถึงไม่พบการพยายามเข้าถึงระบบ (Login) ของแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย นั้น
ที่ผ่านมา กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ทำการสนับสนุนตรวจสอบหาสาเหตุของการหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวในอีกหลายรูปแบบ เช่น กรณีมิจฉาชีพอ้างเป็นสถาบันการเงินหลอกให้กดลิงก์อัปเดตข้อมูล
ทำให้เงินในบัญชีผู้เสียหายสูญหายไป และยังเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกจำนวนมาก หรือกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นพนักงาน บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต โทรศัพท์แจ้งผู้เสียหายว่าได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการติดเชื้อโควิด-19 ขอข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร รหัส OTP เป็นต้น
โดยจากการตรวจสอบ และวิเคราะห์พบว่ามักจะเกิดได้จาก 2 กรณีหลัก คือ กรณีแรกเกิดจากการที่ผู้เสียหายเผลอให้ข้อมูลบัตรกับมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม หรือการให้บัตรเครดิตไปกับผู้อื่นเพื่อทำธุรกรรมการเงินในชีวิตประจำวัน แล้วบุคคลนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น
กรณีที่สองอาจจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์โฆษณาต่างๆ ที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ ทั้งนี้ต้องนำโทรศัพท์ของผู้เสียหายแต่ละรายมาตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น ตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ทำธุรกรรมใดหรือไม่ หรือผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันใดบ้าง เป็นต้น
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเลขหลังบัตรเครดิต หรือเดบิตร (CVV) หรือรหัสเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผ่านเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีแนวทางป้องกัน ดังต่อไปนี้
1.หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้บัตร ไม่เปิดเผยข้อมูลบัตรให้ผู้อื่นล่วงรู้ และอย่าให้บัตรคลาดสายตาเมื่อต้องใช้บัตร ป้องกันการถูกลักลอบนำข้อมูลไปใช้
2.หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)
3.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา ควรติดตั้งผ่าน AppStore หรือ Playstore เท่านั้น
4.ระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดย
5.หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น
6.หากต้องการซื้อสินค้า หรือบริการประเภทดังกล่าว ควรใช้บัตรเดบิต โดยการโอนเงินเข้าบัตรเพื่อชำระสินค้าหรือบริการเท่าที่จะชำระโดยเฉพาะ
7.ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)
ไม่บันทึกรายละเอียดบัตรไว้กับเบราว์เซอร์ เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari โดยเด็ดขาด
8.ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) แล้วจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
9.หมั่นตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการทางออนไลน์โดยทันที
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainews