- 03 มี.ค. 2566
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แชร์ข้อความ ประสบการณ์จาก แพทย์หญิงรภัส สมะลาภา เกิดมาทั้งที ขอตายดีแล้วกัน
"หมอธีระวัฒน์" ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุ
เกิดมาทั้งที ขอตายดีแล้วกัน
แพทย์หญิงรภัส สมะลาภา
แชร์ประสบการณ์และมุมมองการดูแลคนไข้ ของแพทย์หญิงรภัส สมะลาภา จบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานใช้ทุนโรงพยาบาลชุมชน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
ปัจจุบันเรียนต่อแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ชั้นปีที่ 3 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ขณะที่เขียนเรื่องนี้)
“หมอ....หมอจะปล่อยให้แม่หนูตายไปต่อหน้าต่อตาได้อย่างไร” แล้วจะทำอย่างไรได้....ในเมื่อสุดท้ายแล้ว
ทุกคนล้วนต้อง “ตาย” เป็นความจริงที่หลีกหนีไม่ได้
ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “ตาย” อย่างไม่อ้อมค้อม เพราะอยากให้ผู้ที่ผ่านมาอ่านทำความคุ้นชินกับความตายกันสักหน่อย ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา ถึงแม้การยอมรับความตายจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยก็ตาม
ทุกวันนี้การแพทย์ก้าวหน้าไปมากจนจุดที่หมอต้องแจ้งญาติว่าหมดหนทางรักษานั้นน้อยลงไปทุกที และในเมื่อมีทางรักษาได้ใครเล่าจะไม่รักษา ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เห็นมีใครมาบอกว่าการรักษาโรคบางอย่างนั้นสร้างความสะบักสะบอมแก่คนไข้มากเพียงใด แล้วสุดท้ายก็ “ตาย” อยู่ดี
ในเมื่อของฟรีไม่มีในโลก การรักษาโรคภัยก็เช่นกัน หากเราหวังจะหายจากโรคที่เป็น เราย่อมต้องแลก ไม่ว่าจะแลกด้วยร่างกายที่ทรุดโทรมลงจากการให้ยา เช่น การให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น หรือแลกกับภาวะจิตใจที่ห่อเหี่ยวจากการเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล ครอบครัวที่ต้องเสียการงาน เสียค่าเดินมาทางมาเฝ้าที่โรงพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มีแต่มากขึ้นในขณะที่รายได้เริ่มถดถอยลงไป
สิ่งเหล่านี้คือ “ต้นทุน” ที่ต้องจ่าย เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจรักษาวิธีใดวิธีหนึ่ง เราต้องคิดให้ดีว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มเสียหรือไม่ และจุดนี้แหละที่จะบอกว่า แค่ไหนที่เราควรจะ “พอแล้ว” กับการรักษาที่แม้จะมีโอกาสหายอยู่บ้าง แต่เป็นวิธีที่อาจจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไข้จนไม่คุ้มที่จะแลก
เมื่อสถานการณ์คับขันมาถึง ญาติมักจะต้องมาคุยกับหมอเพื่อตัดสินใจว่า “จะไปต่อ หรือพอแค่นี้” แม้ว่าหลาย ๆ ครั้ง ในใจนั้นอยากจะบอกว่า “พอเถอะ ไม่อยากเห็นแม่ทรมานไปมากกว่านี้” แต่สมองก็บอกว่า “นี่ฉันกำลังบอกหมอว่าไม่ต้องช่วยแม่ใช่ไหม ฉันไม่อยากเป็นลูกอกตัญญู”
ความรู้สึกผิดที่พรั่งพรูมักจะทำให้เลือกตัดสินใจบอกหมอให้ทำทุกวิถีทาง ขอเพียงให้คนไข้ยังมีลมหายใจต่อไปแม้จะถูกใส่สายใส่ท่อระโยงระยางแทบทุกรูทวาร
แต่จะให้ทำอย่างไรในเมื่อ “ใครจะทนเห็นแม่ตายไปต่อหน้าต่อตาได้” จึงขอถามว่าแล้วแบบนี้ไม่ตายหรืออย่างไร สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน สิ่งที่น่ากลัวในเวลานี้คงไม่ใช่ความตาย หากแต่เป็น “ความทรมานก่อนตาย” ต่างหาก
การ “รักษาโรค” ที่เราคุ้นเคยกัน คือการรักษาเพื่อให้หายจากโรค (Curative care) เช่น การให้ยาฆ่าเชื้อ การผ่าตัดอวัยวะที่อักเสบติดเชื้อ การผ่าก้อนเนื้องอก การให้เคมีบำบัด เป็นต้น
แต่ความจริงแล้วในทางการแพทย์ สามารถให้การรักษาในรูปแบบอื่นได้ เช่น การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังเพื่อให้หายขาดจากโรคที่เป็นอยู่ แต่เป็นการรักษาที่เน้นการ “บรรเทาอาการ” เป็นหลัก เช่น มีก้อนมะเร็งที่ตับทำให้มีอาการปวดท้องและหายใจเหนื่อย จะให้การรักษาด้วยยาแก้ปวดและการลดอาการเหนื่อย เพื่อให้คนไข้รู้สึกสบายตัวขึ้นและใช้ชีวิตอยู่กับก้อนมะเร็งได้ โดยหมอไม่ได้ไปจัดการอะไรกับก้อนมะเร็งเลย เป็นต้น
การรักษาแบบประคับประคองนี้ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ใช่ว่าหมอไม่รักษา (ให้หาย) แต่เป็นการรักษาที่จะช่วยให้คนไข้มีโอกาสใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสบายตัวสบายใจที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าร่างกายจะทรุดโทรมลงจากโรคที่ดำเนินไปก็ตาม
ในอีกมุมหนึ่ง หลายครั้งที่ญาติทำใจได้แล้ว แต่เป็นตัวหมอเสียเองที่พยายามรั้งคนไข้ไว้ เพราะทำใจไม่ได้ที่จะสูญเสียคนไข้ไป ทั้งรักษากันมานานจนมีความรู้สึกว่าเป็นญาติมิตร และตลอดเวลาที่เรียนแพทย์นั้นหมอถูกสอนให้รักษาโรคให้หายเป็นเสียส่วนใหญ่ การที่คนไข้หายป่วยเท่ากับเราทำได้สำเร็จ เมื่อมาเจอสถานการณ์ที่ต้องปล่อยคนไข้ไป ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะรู้สึกไม่ดีหรือผิดหวังในตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลต่อการรักษาของเราทั้งนั้น
คนไข้ทั้งถูกใส่ท่อช่วยหายใจ ล้างไต หรือใส่สายสวนต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะจะมีสักกี่คนกันที่ทำใจปล่อยคนไข้ไปได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าภาวะตรงหน้านั้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใด ยกตัวอย่างเป็นคนไข้มีก้อนมะเร็งที่ตับ (คนเดิม) ที่เพิ่มเติมคือมีภาวะไตวาย หมอให้คนไข้ไปล้างไต ยืดเวลาชีวิตอยู่ได้อีกสองสัปดาห์ ซึ่งสุดท้ายก็ตายอยู่ดีเนื่องจากตัวโรคนั้นลุกลามไปมาก
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ยื้อมานั้น ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อล้างไต ปวดตามร่างกายขณะเคลื่อนย้าย ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจนญาติต้องหยิบยืมคนอื่นมาเพื่อใช้ในยามคับขัน
ถึงหมอจะมีภาระต่าง ๆ มากมาย แต่อย่าลืมไปว่าหมอไม่ได้ดูแลเฉพาะคนไข้ที่อยู่บนเตียง แต่ครอบครัว จิตใจ และสังคม เรียกว่า “โลกของคนไข้ทั้งใบ” ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปลายปากกาที่หมอสั่งการรักษาด้วยเช่นกัน
การดูแลคนๆหนึ่งให้มีช่วงชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้ยากเกินกว่าจะทำได้ เราสามารถ “ลดความทุกข์ทรมานก่อนตาย” ได้จริง ขึ้นอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจและ “การเปิดใจ” ของทั้งญาติและหมอ แม้จะต้องเสียสละแรงกาย มีแรงใจที่เข้มแข็งและใช้เวลาสักหน่อย แต่ในเมื่อคนเราเกิดมาครั้งเดียว สุดท้ายก็ตายครั้งเดียว เชื่อเถอะว่าการลงทุนครั้งนี้ คุ้มค่าอย่างแน่นอน