- 03 มี.ค. 2566
ประกาศสิ้นสุดฤดูหนาว เข้าสู่ฤดูร้อนปี 2566 เริ่ม 5 มี.ค.สิ้นสุดกลาง พ.ค. คาดปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว 3จังหวัดอุณหภูมิสูงสุด ร้อนสุดในไทย 40-43 องศาฯ
3 มี.ค.66 ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 โดย ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในวันที่ 5 มีนาคม 2566 ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูร้อน 2 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้
2. พื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 องศาฯ ขึ้นไป
จากนั้นจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 โดยปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียล ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว จังหวัดที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 องศาฯ ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศาฯ
จากคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม 2566 จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนา โดยที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป
รวมทั้งมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40-43 องศาฯ ในช่วงนี้อาจเกิดพายุฤดูร้อน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้
ส่วนในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมที่เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วงกับจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับทางด้านภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณปลายเดือนมีนาคมถึง ปลายเดือนเมษายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยสูง 1-2 เมตร
จากนั้นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในบางช่วงอาจสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากปลายฤดูหนาวไปต้นฤดูร้อน (ปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศประเทศไทยที่เริ่มร้อนขึ้น
ต่อมาในช่วงกลางฤดูร้อน (กลาง มี.ค.-เม.ย.) ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับกับมวลอากาศเย็นจาก ประเทศจีน และลมที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทย
ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้ก็จะส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันแรก ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีผลกระทบในวันถัดไป