"อ.เจษฎ์" ตอบชัด ใช้น้ำผสมเกลือ เป็นน้ำเกลือล้างจมูกได้ จริงหรือ

อ.เจษฎ์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ไขข้อข้องใจ ผ่านรายการ ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว น้ำผสมเกลือ สามารถใช้เป็นน้ำเกลือล้างจมูกได้ จริงหรือ?

"อ.เจษฎ์ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

รายการ “ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว” ep.83 ตอน "น้ำผสมเกลือ สามารถใช้เป็นน้ำเกลือล้างจมูกได้ จริงหรือ? "

มีคำถามเกิดขึ้นจากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านหนึ่ง พูดถึงเรื่องการ "ล้างจมูก" โดยบอกทำนองว่า ใครล้างจมูกทุกวัน ซื้อน้ำเกลือขวดละ 60 บาทไม่ไหว้ ให้ทำเองเลย ไม่ถึงสิบบาท ... พร้อมคลิปการทำน้ำเกลือจาก "เกลือปรุงพิทย์" ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป !? (ดูคลิก) เกิดเป็นข้อสงสัยส่งมาถามกันใหญ่ว่า ที่บอกว่าเราสามารถผสมน้ำกับเกลือ ทำน้ำเกลือล้างจมูกเอง แทน "น้ำเกลือที่ขายทางการแพทย์" ได้นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องมั่ว !? เท่านั้น

"อ.เจษฎ์" ตอบชัด ใช้น้ำผสมเกลือ เป็นน้ำเกลือล้างจมูกได้ จริงหรือ

คำตอบคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงครับ ! เราสามาถผสมน้ำเกลือล้างจมูกเองได้ ถ้าไม่ได้เป็นเคสของคนที่ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อซ้ำที่โพรงจมูก

ตามคำแนะนำเรื่อง "การล้างจมูก" โดยทั่วไป แต่ไหนแต่ไรมา ก็บอกว่าให้ใช้เกลือแกงผสมน้ำบริสุทธิ์ ใช้ล้างได้ๆ และประหยัดค่าใช่จ่าย ครับ โดยให้น้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ปริมาณ 500 ซีซี ผสมกับเกลือสะอาดประมาณ 1 ช้อนชา เขย่าผสมกันให้ดี เทน้ำเกลือที่ผสมแล้วลงในแก้วที่สะอาด แล้วใช้ไซรินจ์ขนาด 10 ซีซี ดูดน้ำเกลือมาฉีดล้างจมูกช้าๆ ไม่ต้องแรงเกินไป (ดูคลิก)

แต่ถ้ากังวลเรื่องการติดเชื้อ ทางการแพทย์ ก็บอกว่า ควรใช้น้ำเกลือ “0.9% Sodium Chloride ปราศจากเชื้อ" ที่มีการบรรจุขวดจำหน่ายโดยเฉพาะ (และราคาสูงกว่าน้ำเกลือผสมเอง) เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในโพรงไซนัส และความเข้มข้นของน้ำเกลือขนาดนี้ จะไม่ระคายเคืองโพรงจมูกอีกด้วย (ดูลิงค์ด้านล่าง)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง การล้างจมูก จากโรงพยาบาลศิครินทร์ ได้ด้านล่างนี้ครับ

(บทความจาก รพ.ศิครินทร์) “ล้างจมูก” ไม่ยาก – วิธีการล้างจมูกที่ถูกต้อง

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในจมูกออกไป ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ สามารถทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และสามารถล้างได้บ่อยๆ เมื่อมีอาการคัดจมูก หรือวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ใครบ้างที่ควรล้างจมูก

การล้างจมูก คือ การสวนล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อชำระล้างน้ำมูก และสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ช่วยลดอาการน้ำมูกไหลลงคอ และอาการคัดจมูกช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นอีกด้วย การล้างจมูกไม่ได้จำเป็นสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้ใหญ่ และเด็ก (ที่สามารถกลั้นหายใจ และสั่งน้ำมูกเองได้) ก็สามารถล้างจมูกได้เช่นกัน

  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
  • ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ
  • ผู้ที่เป็นหอบหืด พ่นยาเป็นประจำ
  • ผู้ที่ต้องเผชิญมลภาวะ สูดดมฝุ่น ควันบ่อยๆ
  • ผู้ที่เป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะมากๆ จนรบกวนการหายใจ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูก

  • น้ำเกลือปราศจากเชื้อ Sodium Chloride 0.9%
  • ไซริงค์ (Syringe) ขนาด 5-10 cc (สำหรับเด็ก) ขนาด 10-20 cc (สำหรับผู้ใหญ่)
  • ภาชนะที่สะอาด สำหรับใส่น้ำเกลือในการล้างจมูก
  • อื่นๆ เช่น ภาชนะรองน้ำ กระดาษทิชชู แก้วสะอาด

"อ.เจษฎ์" ตอบชัด ใช้น้ำผสมเกลือ เป็นน้ำเกลือล้างจมูกได้ จริงหรือ

ขั้นตอนการล้างจมูก

  1. ล้างมือและไซริงค์ให้สะอาด
  2. เทน้ำเกลือใส่ในภาชนะที่สะอาด
  3. ใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือจากภาชนะที่สะอาดประมาณ 10-20 มิลลิลิตร ตามขนาดของไซริงค์ และโน้มตัวเหนือภาชนะรองน้ำ
  4. ดันไซริงค์ให้แนบสนิทกับรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง แล้ว “กลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก” หรือร้อง อา—
  5. ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูก น้ำเกลือจะไหลเข้าไปในโพรงจมูก และไหลออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง
  6. สั่งน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกเบาๆ บางคนอาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกทางปากให้บ้วนทิ้งไป
  7. ล้างจมูกอีกข้างหนึ่ง ด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน
  8. ทำซ้ำโดยล้างจมูกสลับกันไปมา หรือล้างจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูก

ข้อควรระวังเมื่อล้างจมูก

  • ควรใช้น้ำเกลือ Sodium Chloride 0.9% ชนิดปราศจากเชื้อ เท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนและไม่ระคายเคืองโพรงจมูก
  • ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างจมูก เพราะจะทำให้เกิดอาการสำลักน้ำ และแสบโพรงจมูก
  • ไม่ควรฉีดน้ำเกลือแรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองโพรงจมูก หรือโพรงจมูกอักเสบได้
  • ควรสั่งน้ำมูกและเช็ดจมูกเบาๆ เพราะการสั่งน้ำมูกแรงๆ อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือหูอักเสบได้ และขณะที่สั่งน้ำมูกไม่ควรอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรสั่งพร้อมกันทั้งสองข้าง
  • หากต้องการใช้ยาพ่นหลังจากล้างจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อนอย่างน้อย 3-5 นาที จึงพ่นยา

ข้อมูลจาก www.sikarin.com