- 20 มี.ค. 2566
มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่ซ่อนเร้น มีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่พบได้ทั่วไป เช่น หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ หากตรวจพบเจอในระยะเริ่มแรก ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหาย อย่าชะล่าใจปล่อยไว้จนลุกลาม
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2.5 เท่า ผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ยวันละ 4 คน เสียชีวิต เฉลี่ยวันละ 2 คน (สถิติ Cancer in Thailand Vol.X,2016-2018 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และและสถิติสาธารณสุข ปี 2564) ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีหลายปัจจัย ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง อาหารที่มีสารไนโตรซามีน เป็นประจำ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) ความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่นเชื้อชาติจีน และประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
นายแพทย์เอกภพ แสงอริยวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง หู คอ จมูก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีหลายอาการ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง รักษาแบบโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด ปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพซ้อน มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ ชาบริเวณใบหน้า ปวดหัวและมีก้อนคอ การวินิจฉัยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกนั้น แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้องภายในจมูกเพื่อดูหลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น เนื้อนูน ผิวขรุขระมีเลือดซึม แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นออกมาตรวจ และต้องตรวจเพิ่มเติมว่าโรคมีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่ การรักษาหลัก ๆ มี 3 วิธี ได้แก่ การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลัก ส่วนการผ่าตัดอาจมีบทบาทในรายที่เป็นซ้ำ แต่เนื่องจากอาการแสดงของโรคคล้ายกับโรคที่พบได้ทั่วไป เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่า ตนเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ กว่าจะทราบว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกก็เมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว
มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและมีโอกาสหายได้เมื่อตรวจพบและได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรก การป้องกันการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกเบื้องต้น ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้สดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงรับควันบุหรี่ และคอยหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ เมื่อพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ "โรคมะเร็ง รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันได้" สามารถศึกษาข้อมูลข่าวสารโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง คลิก เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง คลิก