- 30 มี.ค. 2566
เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เปิดภาพเอกสารแฉงบเต็มแอร์สรรพากร ฟาดไป 300 ล้าน กางให้ดูชัดๆทีละชั้นมูลค่าอะไรเท่าไหร่
วันที่ 30 มีนาคม 2566 เพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์แฉงบเต็มการจัดซื้อแอร์สรรพากร เปิดเอกสารชัดราคาตั้งไว้กว่า 300 ล้านบาท แต่ยังต้องเปิดพัดลมกันทั้งตึก โดยทางเพจได้ทำการแฉเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เผยอีกหลังติดตั้งแอร์ใหม่ไม่นานก็ใช้การไม่ได้ เสียตั้งแต่หลังตรวจรับสองสัปดาห์แรก
โดยเมื่อประมาณวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาทางเพจได้แฉ แอร์สรรพากรไว้ว่า เปลี่ยนแอร์ 200 ล้าน เปิดพัดลมทั้งสรรพากร
กรมสรรพากร จ้างปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ วงเงิน 191,844,975.85 บาท ผู้ที่ได้งานเป็นบริษัทผลิตแอร์เบอร์ใหญ่ยี่ห้อมีชื่อของบ้านเรา บิดแข่งกับบริษัทขายแอร์เล็ก ๆ แถวนวมินทร์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบจ่ายลมเย็นอินเวอร์เตอร์ผ่านท่อลม รุ่น Air Handling Unit Inverter ขนาด 250,000-600,000 BTU รวมจำนวน 5 ตัว และมีเครื่องระบายความร้อนความเย็น เครื่องเติมอากาศและปรับทิศทางลมอีก 1,687 ตัว ตรวจรับแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 61
ติดตั้งแรก ๆ ก็เย็นดี แต่หลังตรวจรับเพียงสองสัปดาห์ก็รู้เรื่อง แอร์เริ่มติด ๆ ดับ ๆ แจ้งแก้ไขมาตลอด 2 ปี ก็ได้คำตอบเพียงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ปัจจุบันทั้งตึก 27 ชั้น มีเพียงแอร์ชั้นผู้บริหาร กองบริหารการคลังและรายได้ ที่ยังเย็นอยู่ในบางจุด ส่วนเจ้าหน้าที่กว่า 80 % ต้องทำงานแบบไม่มีแอร์ ทนร้อนกันไม่ไหวก็ขนทั้งพัดลม พัดลมไอน้ำ แอร์เคลื่อนที่ มากันเอง เกลื่อนไปหมดทั่วสำนักงาน และบางชั้นต้องควักเงินซื้อแอร์มาติดเองเพราะอยู่กันไม่ได้
ล่าสุดวันที่ 30 มีนาคม 2566 ได้โพสต์แฉสะเทือนอีกรอบ พร้อมเปิดเอกสารชัด งบเต็มแอร์สรรพากร 303,442,280.48 บาท โครงการปรับปรุงระบบปรับอากาศอาคารสำนักงานกรมสรรพากร มีการกำหนดราคากลางตามบีโอคิว (ปร.4) ไว้สูงถึง 303,442,280.48 บาท งานหลัก ๆ เป็นการติดตั้งแอร์ชุดใหม่สวมเข้ากับระบบท่อลมและโครงสร้างเดิม โดยมีรายการค่าใช้จ่ายสรุปอย่างย่อ ดังนี้
ติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบจ่ายลมเย็นอินเวอร์เตอร์ผ่านท่อลม รุ่น Air Handling Unit Inverter ขนาด 250,000- 600,000 BTU ทั้งหมด 5 ตัว รวมค่าแรงคิดเป็นเงินทั้งหมด 6,600,000 บาท
ชุดเครื่องปรับอากาศชุดเล็ก ที่มีเครื่องเติมอากาศ ระบายความเย็นความร้อน ปรับทิศทางอากาศและเติมอากาศ ขนาดตั้งแต่ 12,000-80,000 BTU จำนวน 1,687 ตัว เป็นเงิน 138,887,492 บาท
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ 17,400,000 บาท ชุดระบบไฟฟ้า 20,299,000 บาท สายสัญญาณสื่อสาร 2,870,000 บาท ชุดท่อน้ำยาพร้อมติดตั้ง 28,462,091.44 บาท ปรับปรุงท่อลม 3,108,635 บาท ท่อน้ำทิ้ง 1,834,500 บาท และท่อน้ำระบบประหยัดพลังงาน 821,400 บาท
ค่า Overhead & Management Fee 32,000,000 บาท Commissioning/Testing 5,280,000 บาท และรายการปรับปรุง รื้อถอนอีกจำนวน 15,260,000 บาท
คิดรวมค่างานทั้งหมด 254,993,513.01 บาท คูณค่า Factor F 1.1900 รวมเป็นเงิน 303,442,280.48 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า รายการค่าใช้จ่ายระบบท่อน้ำยา ระบบไฟฟ้าสายไฟ สายสัญญาณ ท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำระบบประหยัดพลังงาน ปรับปรุงท่อลม ปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้าง ค่า commissioning/Testing ค่า Overhead & Management คิด "ราคาเหมา" ทั้งหมด เป็นยอดค่าใช้จ่ายรวม 109,955,566.92 บาท ส่วนตัวแบบสรุปเป็นคำสั้น ๆ ว่า "งานหยาบ" ชวนให้สงสัยว่าบรรดาค่าใช้จ่ายที่เป็นราคาเหมาเหล่านี้ไม่ได้คำนวณจากปริมาณงานจริง
ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง (ACT Ai) :: https://tinyurl.com/2n54bfy7
#EP_3 #เครื่องปรับอากาศ #กรมสรรพากร #ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน 66-03-050
ขอบคุณ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน