- 05 เม.ย. 2566
"ทนายอั๋น บุรีรัมย์"บุกร้องดีเอสไอ เอาผิดทนายตั้ม พร้อมขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ใช้ชีวิตอย่างหรูหราอย่างมาก
5 เม.ย.66"ทนายอั๋น บุรีรัมย์" หรือ "นายภัทรพงศ์ ศุภักษร"เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน"ทนายตั้ม"ษิทรา เบี้ยบังเกิด เนื่องจากพบว่า งบดุลบริษัท Sittra Law Firm มีงบดุลขาดทุมสะสมมาหลายปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของทนายตั้มและครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราอย่างมาก
โดยทนายอั๋นได้นำหนังสือพร้อมหลักฐาน เป็นภาพการใช้ชีวิตหรูหรา สวมใส่เสื้อผ้าและกระเป๋าแบรนด์เนม ไปท่องเที่ยวต่างประเทศที่ถูกโพสต์ลงสาธารณะผ่านเฟซบุ๊คของทนายตั้ม รวมถึงเอกสารบัญชีงบดุลของบริษัทที่สืบค้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งพบว่ามีผลประกอบการขาดทุนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มาเป็นหลักฐานให้กับดีเอสไอ มี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
ตามเอกสารบัญชีงบดุลดังกล่าวที่เปิดเผยในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่าขาดทุนสะสมทุกปี รวม 470,000 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตหรูหราอยู่สบายของทนายตั้ม
ทำตัวไฮโซ มีรถหรู มีคฤหาสน์ราคา 60 ล้าน ซื้อสินค้าแบรนด์เนมครั้งละหลายล้านบาทที่ต่างประเทศ สะสมนาฬิกายี่ห้อดังมูลค่าหลายล้านบาทเช่นกัน ทำให้ตนเองเกิดข้อสงสัยว่า ทนายตั้มมีรายได้พิเศษจากทางใดอีกหรือไม่ นอกเหนือจากรายได้บริษัท รวมถึงการแสดงงบดุลรายได้รายจ่ายของบริษัทที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่
สำหรับแหล่งที่มารายได้ของทนายตั้ม 3 ทาง คือ
1. บริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม
2.งานส่วนตัว
3.มูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ของทนายตั้ม
เมื่อตรวจสอบแล้วโปร่งใสจะเป็นผลดีต่อตัวทนายตั้มเอง แต่หากพบการทุจริตจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของอาชีพทนายความ และอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงินด้วย ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้เดินทางไปร้องทุกข์ ปปง. แต่มาร้องขอให้ดีเอสไอ ใช้เครื่องมือตรวจสอบ และที่ผ่านมา ทนายตั้ม ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงเรื่องรายได้ดังกล่าว
ดังนั้น จึงอยากให้ดีเอสไอ ตรวจสอบเส้นทางการเงินของทนายษิทรา ทั้ง 3 แหล่งว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เข้าลักษณะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ หรือมีรายได้จากช่องทางใดที่ผิดกฎหมายหรือไม่
พร้อมยืนยันว่า ไม่กังวลหากทนายตั้มจะฟ้องกลับและแม้ว่าจะยังไม่มีความผิดมูลฐานที่ ปปง. จะรับเรื่อง แต่การมายื่นกับ DSI ครั้งนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งหาก DSI ไม่พบความผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีกับทนายตั้มเอง แต่หากพบรายได้ที่ผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีต่อสังคม
พร้อมขอให้สังคมจับตาดูงบดุลบริษัทปี 2565 ของ Sittra Law Firm ที่จะมีการยื่นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะขาดทุนเช่นเดิม หรือมีเงิน 200-300 ล้านปรากฎเข้ามาในบริษัท และถ้าหากมี ก็อยากทราบว่าเงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร
ส่วนกรณีข้อสงสัยว่าจะทนายตั้มจะมีเงินสีเทาตามที่นายชูวิทย์ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้หรือไม่ ตนไม่ทราบ ขอให้ไปสอบถามนายชูวิทย์เองจะดีที่สุด