- 16 เม.ย. 2566
เปิดอาการโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอนลูกผสม "XBB.1.16" หลังประเทศไทยพบการระบาด มีผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 6 ราย
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มกลับมาเป็นที่น่ากังวลอีกครั้ง หลังพบมีการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอนลูกผสม "XBB.1.16" โดยในประเทศไทยพบว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย นอกจากนี้ในไทยยังพบการติดเชื้อ XBB.1.16.1 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้วอีก 1 ราย ด้วยการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ดึงมาจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก "GISAID" โดยทีมวิจัยของ ดร. ราช ราชนรายานันท์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ XBB.1.16.1 อาจกล่าวได้ว่าเป็นรุ่นลูกของ XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ต่างจาก XBB.1.16 ตรงส่วนหนามของไวรัสที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์เปลี่ยนไปหนึ่งตำแหน่งคือ "T547I"
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลว่า ดร.วิพิน ม.วาชิษฐา (Dr. Vipin M. Vashishtha) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก พบว่าจะมีอาการไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง (เพราะติดเชื้อไวรัสไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย) ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะการกลายพันธุ์ส่วนหนามที่ช่วยให้ XBB.1.16 สามารถจับกับเซลล์เยื้อบุตาได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น จนเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตาร่วมด้วย
แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ.ทั่วโลกก็มิได้เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ ซึ่งหากดูภาพรวมการระบาดของโอไมครอนในประเทศไทยโดย Outbreak.info ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า สายพันธุ์หล้กในไทยเป็น XBB.1.5 ประมาณ 47%
รองลงมาคือ
XBB.1.9.1 ประมาณ 27%
XBB.1.16 ประมาณ 13%
XBB.1.5.7 ประมาณ 7%
XBB.1.16.1 ประมาณ 7%
สำหรับข้อแนะนำหลังสงกรานต์ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองภายใน 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิ ไม่แนะนำตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ
ขอบคุณ Center for Medical Genomics