- 20 มิ.ย. 2566
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 21 มิถุนายนนี้ เตรียมพบกับปรากฎการณ์ "ครีษมายัน" หรือช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที
วันครีษมายัน 2566 หรือ "ครีษมายัน" อ่านว่า (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ โดย NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เกิดปรากฏการณ์ เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี“วันครีษมายัน” ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุดของปี และนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว
สำหรับประเทศไทย วันที่ 21 มิถุนายน การเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้น ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที
ใน 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น - ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่
1. วันครีษมายัน - วันที่กลางวันยาวนานที่สุด
2. วันเหมายัน - วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด
3. วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต - วันที่มีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน
ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ขอบคุณ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ