- 20 ก.ค. 2566
กรมอุตุนิยมวิทยา แจงแล้วหลังแชร์ว่อน! ไทยฝนตกหนัก พายุนาบิเคลื่อนตัวเข้าอีสานตอนบน ช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 66
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง ไทยฝนตกหนัก พายุนาบิเคลื่อนตัวเข้าอีสานตอนบน ช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 66 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีผู้เผยแพร่ข้อมูลพยากรณ์อากาศว่า พายุนาบิจะเคลื่อนตัวเข้าทางอีสานตอนบน ภาคเหนือ ทุกจังหวัด มีผลกระทบฝนตกหนักในประเทศไทย ช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 66 นั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลปลอม ขณะนี้มีการก่อตัวพายุที่ชื่อ “นาบิ Nabi” จริง แต่ไม่ได้มาช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 66 แต่จะเคลื่อนตัวลงทะเลจีนใต้ในวันที่ 25 ก.ค. 66 และเส้นทางเดินพายุไม่ได้เข้าประเทศไทยตามที่ถูกกล่าวอ้าง
ในช่วงวันที่ 21-24 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงตลอดช่วง ซึ่งในช่วงนี้จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวลือนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือ โทรสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นข้อมูลปลอม ขณะนี้มีการก่อตัวพายุที่ชื่อ “นาบิ Nabi” แต่เส้นทางพายุไม่ได้เข้าประเทศไทย ช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 66 ดังที่ถูกกล่าวอ้าง แต่จะเคลื่อนตัวลงทะเลจีนใต้ในวันที่ 25 ก.ค. 66
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม