- 25 ก.ค. 2566
ปกรณ์วุฒิ เปิดหลักฐานใหม่คดี ‘ศักดิ์สยาม’ ซุกหุ้น จ่อยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบมีหนี้สินคงค้างใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ เปิดเผยในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่
วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีคดีความที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมเคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2565 ขอให้ตรวจสอบว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อาจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้น ร่างคำร้องได้พุ่งเป้าไปที่การคงอยู่ซึ่งความเป็นเจ้าของของศักดิ์สยามในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ศักดิ์สยามหยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ผู้ถูกร้องก็ได้ส่งเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ซึ่งตนและ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะตัวแทนผู้ร้อง ได้รับเอกสารทั้งหมดนี้เช่นกันเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว จากตรวจสอบเอกสารทั้งหมด ทำให้พบว่ามีจุดพิรุธอยู่หลายแห่งเป็นที่มาของการแถลงข่าวในวันนี้ และหลังจากจบแถลงข่าว ตนจะเดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อยื่นคำร้องเพิ่มเติมเนื่องจาก พบหลักฐานใหม่ว่าศักดิ์สยามยังมีหนี้สินคงค้างกับห้างหุ้นส่วนแห่งนี้ในวันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่ได้เปิดเผยในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.
ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตามเอกสารที่ หจก.บุรีเจริญฯ ชี้แจงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีหนี้สินที่ศักดิ์สยามคงค้างกับ หจก. นั้น ในรายละเอียดระบุว่าศักดิ์สยามเคยกู้ยืมเงินจาก หจก. ตั้งแต่ปี 2558-2559 จำนวน 4 ครั้ง เป็นยอดรวมทั้งสิ้น 108,499,000 บาท โดยมีสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาศักดิ์สยามได้ชำระหนี้เงินกู้คืนทั้งก้อน ในวันที่ 22 เมษายน 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง สส. 33 วัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของตนเมื่อปี 2565 หลังจากศักดิ์สยามชี้แจงในสภาฯ ตนได้ลุกขึ้นถามคำถามว่าหนี้สินที่ศักดิ์สยามมีกับ หจก. แห่งนี้ได้โอนออกไปพร้อมกับการโอนหุ้นหรือไม่ ทว่าไม่เคยได้รับคำตอบ แต่ข้อมูลจากเอกสารของ หจก.บุรีเจริญฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าหลังจากการโอนหุ้น หจก. แห่งนี้ออกไป ไม่ได้มีการโอนหนี้สินก้อนนี้ออกไปด้วย เอกสารฉบับนี้จึงเป็นการมัดตัวว่าหนี้สินก้อนนี้ยังเป็นของศักดิ์สยามอยู่ หลังจากการโอนหุ้นเมื่อปี 2561 อย่างแน่นอน
คำถามต่อไปคือ มีการชำระหนี้เงินกู้คืนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ก่อนที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน อย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะในเมื่องบการเงินของ หจก. สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ระบุชัดว่า ยังมีเงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมคงค้างอยู่ 38 ล้านบาท หลังจากนั้นยอดหนี้สินนี้จึงถูกปิดลงเหลือ 0 บาทในงบการเงินสิ้นปี 2563 ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า การตรวจสอบบัญชี การปิดงบการเงินนั้น จำเป็นต้องสอดคล้องกับเอกสาร ทางการเงินและยอดเงินในบัญชีทั้งหมดของ หจก. เพราะเป็นเอกสารที่จำเป็นต้องยื่นต่อหน่วยงานราชการตามกฎหมาย จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ดังนั้น เป็นไปได้อย่างมากว่าศักดิ์สยามยังคงเป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนแห่งนี้อยู่ 38 ล้านบาทในสิ้นปี 2562 และไม่ได้ยื่นในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
แต่สมมุติเรามองในแง่ดี ว่าวันที่ 22 เมษายน 2562 มีการโอนเงิน 108,499,000 บาทให้ หจก. ตามในเอกสารจริงๆ พิรุธประการต่อไป หากไปดูในเอกสารชี้แจงจะพบว่าทาง หจก. ได้ยอมรับเองว่าศักดิ์สยาม มีการกู้ยืมเงินจากห้างทั้งสิ้น 4 ครั้ง ประเด็นก็คือตัวเลขเงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมตั้งแต่ปี 2559 2560 และ 2561 นั้นระบุตรงกันว่าเป็นยอด 69 ล้านบาท ซึ่งตรงกับการกู้ยืมครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 รวมกัน คำถามคือ การกู้เงินครั้งที่ 1 และ 2 ที่รวมเป็นยอดเงิน 39,499,000 บาท นั้น เหตุใดจึงไม่เคยปรากฏอยู่ในงบการเงินแม้แต่ครั้งเดียว ยอดเงินจำนวนนี้มาจากไหน
ข้อสันนิษฐานของตนคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจไม่ได้มีการชำระหนี้ก้อนนี้ทั้งหมด และยังมียอดหนี้คงค้างตามในงบการเงิน จึงใช้วิธีหายอดเงินที่มีการโอนเข้า หจก. จริงๆ ซึ่งอาจเป็นธุรกรรมเพื่อการอื่น มากล่าวอ้างว่าเป็นการใช้หนี้ แต่เผอิญยอดเงินไม่ตรงกับ 69 ล้านบาทที่ปรากฏในงบการเงิน จึงต้องสร้างยอดหนี้ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในงบการเงินมาก่อน ทำสัญญาเงินกู้ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าสัญญาเงินกู้ที่ยอดเงินสูงขนาดนี้ มีการติดอากรแสตมป์ที่จะมีวันที่ประทับเพื่อให้มีผลทางกฎหมายอย่างเป็นทางการหรือไม่“ผมขอเน้นย้ำว่านี่เป็นการสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้จากข้อพิรุธที่พบตามเอกสาร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะสืบสวนติดตามเอกสารต่างๆ และตรวจสอบเรื่องนี้ตามคำร้องต่อไป” ปกรณ์วุฒิกล่าว
ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า ประการต่อไปที่คิดว่าเป็นข้อสงสัยมากที่สุด เมื่อตนอ่านเอกสารชี้แจงของ หจก. ดังกล่าว ก็ลองนึกย้อนไปถึงเนื้อหาที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ และตอนที่ศักดิ์สยามลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาฯ เนื้อหาส่วนหนึ่งของการอภิปรายของตนคือการตั้งข้อสงสัยว่า ตัวเลขในการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่สอดคล้องกับการขายหุ้นของหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เพราะหากมีการขายหุ้น และศักดิ์สยามได้เงิน 120 ล้านบาทจริง เมื่อเดือนมกราคมปี 2561 เหตุใดในการยื่นทรัพย์สินใน 16 เดือนให้หลังกลับมีเงินสดเงินฝากเพียงแค่ 76 ล้านบาทหากเป็นตัวเลขจริงแปลว่าศักดิ์สยามใช้เงินที่ไม่ใช่การซื้อทรัพย์สินอย่างน้อย 40 ล้านบาทภายใน 16 เดือน และถ้าใช้แค่ 40 ล้านก็ตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่า ก่อนเดือนมกราคมปี 2561 ศักดิ์สยามไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว
ในวันรุ่งขึ้น ศักดิ์สยามก็ลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาฯ ในข้อมูลนำเสนอเขียนว่า “ได้นำไปชำระหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินทางธุรกิจ” แต่ศักดิ์สยามอภิปรายเพียงแค่ว่า “ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นนั้น ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผมที่จะนำไปใช้อะไร ซึ่งก็คิดว่าคงไม่ต้องมารายงานต่อท่านสมาชิก” สิ่งที่ผมสงสัย คือหากการจ่ายคืนหนี้สินเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 เกิดขึ้นจริง เหตุใดศักดิ์สยามจึงไม่นำข้อมูลหลักฐานนี้มาชี้แจงในสภาฯ ในวันนั้น หากลองคิดแบบวิญญูชนทั่วไป วันนั้นตนอภิปรายถึงสายสัมพันธ์ของศักดิ์สยามที่มีกับ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น หลังการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และศักดิ์สยามได้นำหลักฐานว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วมาชี้แจงในสภาฯ หนี้สินก้อนนี้คือเชือกเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงศักดิ์สยามเข้ากับห้างหุ้นส่วนแห่งนี้
หากมีการชำระหนี้ไปแล้วจริง จะเป็นหลักฐานสำคัญว่าได้ตัดขาดจากห้างหุ้นส่วนแห่งนี้โดยเด็ดขาดแล้ว รวมถึงยังทำให้จำนวนทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ที่ตนตั้งข้อสงสัยไว้ว่ามีพิรุธ จะถูกหักล้างทันที จะเป็นหมัดเด็ดที่ทำให้ตนถูกน็อกกลางสภาฯ ในวันนั้น แต่ศักดิ์สยามกลับพูดเพียงว่า ‘เป็นเรื่องส่วนตัวที่จะนำไปใช้อะไร คิดว่าคงไม่ต้องมารายงานต่อท่านสมาชิก’ “ขอยกให้เป็นวิจารณญาณของทุกท่านในการตัดสินว่าความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ ทั้งหมดที่ศักดิ์สยามชี้แจงทั้งในสภาฯ และต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นการทำธุรกรรมที่พิสดารใน หจก. ดังกล่าวมากเกินไปจนยิ่งพยายามแก้ปมเท่าไรก็ยิ่งมัดตัวเองให้ดิ้นไม่หลุดไปเรื่อยๆ” ปกรณ์วุฒิกล่าว
ปกรณ์วุฒิยังระบุเพิ่มเติมถึงข้อพิรุธที่พบในเอกสารชี้แจงที่ศักดิ์สยามส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เช่นประเด็นการคงอยู่ซึ่งความเป็นเจ้าของ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ศักดิ์สยามได้ขอเอกสารจาก หจก. เป็นเอกสารใบรับวางบิลซึ่งมีเอกสารตั้งแต่ปี 2561-2564 เป็นความพยายามที่จะบอกว่านี่เป็นหลักฐานว่าหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่ เข้ามาควบคุมกิจการเซ็นเอกสารตั้งแต่ต้นปี 2561 ตามที่ได้มีการโอนหุ้นออกไปแล้วจริงๆ
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของตน ได้ให้ข้อมูลว่าเอกสารการขายหุ้นเปลี่ยนเจ้าของตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 แต่ยังคงใช้ที่ตั้งเดิมคือ 30/2 หมู่ 15 และแจ้งเปลี่ยนที่ตั้งกับทางการเป็น 30/17 หมู่ 15 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 แต่เอกสารใบรับวางบิลที่ออกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนก่อนที่ หจก. จดย้ายที่ตั้งต่อทางราชการ ที่อยู่ของ หจก. ในเอกสารกลับระบุเป็น 30/17 หมู่ 15 ไปแล้ว นอกจากนั้น เอกสารใบรับวางบิลเป็นเอกสารภายในของธุรกิจ ไม่ได้ยื่นต่อหน่วยงานราชการ จึงสามารถทำขึ้นย้อนหลัง จะพิมพ์ขึ้นมากี่ใบเมื่อไรก็ได้
ทั้งนี้ ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนผู้ร้องคือตนและ พ.ต.อ. ทวี ได้ยื่นรายชื่อพยานบุคคลทั้งหมด 22 คนและรายชื่อพยานเอกสาร 19 รายการ ที่จะขอให้ศาลฯ เรียกเพื่อชี้ข้อพิรุธและหักล้างคำชี้แจงดังกล่าวของศักดิ์สยามผู้ถูกร้อง
นอกจากนี้ ทีมงานของ พ.ต.อ. ทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อบัญชีพยานบุคคล ได้พบรายการเดินบัญชีของศักดิ์สยามรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 27 บัญชีที่มีความผิดปกติ โดยทีมงานคนนี้ได้ยื่นเอกสารในการชี้เบาะแสของผู้ที่น่าจะเชื่อว่าร่วมกันกระทำผิดฐานฟอกเงินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในเวลา 10.00 น. วันนี้ ปกรณ์วุฒิ ทิ้งท้ายว่า ขอเรียกร้องไปยังองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งในแง่กระบวนการที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 รวมถึงมาตรฐานในการทำงานที่กำลังถูกสังคมจับจ้องและตั้งคำถามว่า จะถูกหรือผิด เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับผู้ถูกร้องอยู่ฝ่ายไหนหรือไม่
“ถึงเวลาแล้วที่องค์กรอิสระต้องเรียกศรัทธาจากสังคมคืนมาให้ได้ ด้วยการปฏิบัติกับทุกคำร้องอย่างเท่าเทียมเที่ยงธรรม ก่อนที่ประชาชนจะหมดศรัทธากับกลไกเหล่านี้อย่างที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนได้อีกเลย” ปกรณ์วุฒิกล่าว
จากนั้น ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการแถลงข่าวเปิดหลักฐานใหม่ในวันนี้ จะกระทบต่อการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นการทำหน้าที่ตามปกติเพราะเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่แรก จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำ เรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ตนไม่ได้อยู่ในคณะเจรจา และไม่ทราบว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นเมื่อไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราเคยประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่าต่อให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็จะทำงานตรวจสอบรัฐมนตรีทุกคน ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเอง และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นเรื่องที่ระบุใน MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว
“ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล พิธาได้เป็นนายกฯ ผมคิดว่าภาพที่พรรคก้าวไกลตรวจสอบพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คงไม่ใช่ภาพที่ทุกคนแปลกใจ ดังนั้น เราเคยทำแบบไหน พูดแบบไหน เราก็ทำแบบนั้น การตรวจสอบการทุจริตนั้น ไม่มีเวลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำสิ่งที่ถูกต้อง” ปกรณ์วุฒิกล่าว