- 31 ก.ค. 2566
อัปเดตเส้นทาง "พายุขนุน" (KHANUN) ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาตอบชัดกระทบไทยหรือไม่
วันที่ 31 ก.ค. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทเส้นทาง "พายุไต้ฝุ่นขนุน" (KHANUN) เวลา 04.00 น. พายุนี้ยังมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉัยงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ กำลังเปลี่ยนทิศทาง คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปทางประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศจีน และอยู่ห่างจากประเทศไทยมาก จีงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยแต่ประการใด
Joint Typhoon Warning Center (JTWC) ติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น "ขนุน" KHANUN บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกหรืออยู่ด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ ทิศทางจะเคลื่อนไปบริเวณด้านตะวันออกของจีนหรือเหนือเกาะไต้หวันในช่วง 4-6 ส.ค. 2566 พายุนี้ ไม่เคลื่อนเข้าและไม่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทย โดยผู้ที่แผนการเดินทางไปยังเขตอิทธิพลของพายุตามห้วงเวลาดังกล่าว และชาวเรือให้ระมัดระวังสภาพคลื่นลมแรงบริเวณทะเลจีนตะวันออกกับขอให้ติดตามสภาพอากาศนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-9 ส.ค. 2566 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) โดยระบุว่า
ช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 4 ส.ค. 2566 ยังมีฝนต่อเนื่อง บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกด้านรับมรสุม (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา) ส่วน กทม. และปริมณฑล จะเริ่มมีฝนช่วงบ่าย-ค่ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานตอนบน ใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมได้พาดผ่านบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง พัดปกคลุม และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางตอนบนของเวียดนาม
ช่วงวันที่ 5-9 ส.ค. 2566 ฝนน้อยลง แต่ยังมีเกิดขึ้นได้บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน เนื่องจากมรสุมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง
ในระยะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุโซนร้อนขนุน (KHANUN) ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ทิศทางไม่ได้มุ่งเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับบ้านเรา (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)