- 08 ส.ค. 2566
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เดินหน้าแผนก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุยกับชายฝั่งสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างปี 71
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เดินหน้าแผนก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุยกับชายฝั่งสุราษฎร์ธานี หรือโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร พร้อมเล็งชง ครม.ใหม่อนุมัติ คาดเริ่มก่อสร้างปี 2571 เปิดบริการได้ปลายปี 2575
ซึ่งเบื้องต้นในโครงการได้เลือกจุดเริ่มต้น (ฝั่งแผ่นดินใหญ่ ทั้งในเขตอำเภอดอนสัก สุราษฎร์ธานี และอำเภออ.ขนอม นครศรีธรรมราช) และจุดสิ้นสุด (ฝั่งเกาะสมุย) ไว้อย่างละ 3 จุด ได้แก่ สำหรับจุดเริ่มต้นที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นทางเลือก 3 แห่ง ดังนี้
-จุดเริ่มต้นโครงการแห่งที่ 1 อยู่บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ ประมาณ 3 กิโลเมตร
-จุดเริ่มต้นโครงการแห่งที่ 2 อยู่บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ
- จุดเริ่มต้นโครงการแห่งที่ 3 อยู่บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.40
สำหรับจุดสิ่นสุดโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นทางเลือก 3 แห่ง ดังนี้
-จุดสิ้นสุดโครงการแห่งที่ 1 อยู่บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- จุดสิ้นสุดโครงการแห่งที่ 2 อยู่บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือที่จะไปเกาะแตน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครเกาะสมุย ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- จุดสิ้นสุดโครงการแห่งที่ 3 อยู่บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งทำเกษตรกรรม ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม
โดยล่าสุดวันที่ 8 ส.ค.66 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ นายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมา และความสำคัญของโครงการ แนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้น กระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อไป
ในการนี้ ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน นางสาว ณัฐฐา กาสี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ครอบคลุมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom รวมกว่า 200 คน
เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ
ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป
โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575
ในเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน
และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก
cr.กทพ.