- 12 ส.ค. 2566
กรมอุตุฯประกาศเตือนฉบับที่ 2 "ฝนตกหนักถึงหนักมาก" ช่วงวันหยุดยาว 12-15 ส.ค.นี้ จากอิทธิพลมรสุมกำลังแรงขึ้น...
วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 2 มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 12-15 สิงหาคม 2566
โดยระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวัง ในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย โดยจังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 12 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
วันที่ 13 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดสระบุรี และกาญจนบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 14-15 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.