- 12 ส.ค. 2566
เปิดประวัติ “ครูกายแก้ว” ร่ำลือเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เบื้องหลังไม่ธรรมดา พร้อมคาถาบูชา และพิกัดตามขอพรที่ไหนได้บ้าง!
จากกรณีที่แชร์กันสนั่นโซเชียลกันทีเดียว หลังจากเมื่อเช้าวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เกิดจราจรติดขัดที่ถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ก่อนถึงซอยรัชดาภิเษก 36 เนื่องจากเกิดเหตุรถบรรทุกรูปปั้น “ครูกายแก้ว” ติดคานสะพานลอยคนข้าม ขณะจะนำรูปปั้นไปตั้งไว้หน้าโรงแรมบาร์ซา รัชดา เพื่อทำพิธีเบิกเนตร
สำหรับประวัติ “ครูกายแก้ว” หรือ พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์ และเทพเจ้าแห่งโชคลาภ จากประวัติที่ปรากฏระบุว่า ได้มากับพระธุดงค์ที่ จ.ลำปาง ที่ได้ธุดงค์ไปทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา และต่อมาก็ได้มอบครูกายแก้วนี้ให้กับลูกศิษย์ นั่นก็คือ อ.ถวิล มิลินทจินดา หรือ พ่อหวิน นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ผู้เป็นอาจารย์ของ "อ.สุชาติ รัตนสุข" ผู้สร้างองค์ปฐมของครูกายแก้วขึ้นในประเทศไทย
ในครั้งแรกที่ อ.สุชาติ ได้รับมอบครูกายแก้วมานั้น องค์มีขนาดเล็ก เป็นลักษณะคนนั่ง หน้าตักเพียงแค่ประมาณ 2 นิ้ว และต่อมาครูกายแก้วก็ปรากฏกายให้ อ.สุชาติ ได้เห็น ในตอนนั้นเอง อ.สุชาติ ก็ได้ทำการวาดภาพของครูกายแก้วจากจินตนาการ และทำการหล่อรูปองค์ครูขึ้นเป็นองค์แรก มีลักษณะเป็นองค์ยืนคล้ายคนแก่ นำไปไว้ที่สำนัก โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการบูชาครู
ลักษณะรูปร่างขององค์ครูกายแก้วที่ อ.สุชาติ สร้างขึ้นมานั้นเป็นลักษณะของผู้บำเพ็ญกึ่งมนุษย์กึ่งนก มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวทองเพื่อสื่อถึงนกการเวก อ้างอิงตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนกำแพงบายน ที่มีประวัติของการเวกซึ่งเป็นพวกนักดีดสีตีเป่า ถือเป็นครูของศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา
ปัจจุบันองค์ปฐมแบบยืนของครูกายแก้วนั้น ถูกย้ายไปไว้ที่บ้านของคุณสุวรรณี เต็มเจริญสุข ส่วนครูกายแก้วองค์ต่อมาที่เป็นแบบองค์นั่งก็ถูกเก็บเอาไว้บูชาที่บ้านของท่าน อ.สุชาติ เอง แต่หากใครอยากกราบไหว้ขอพรองค์ครูกายแก้วก็สามารถไปได้ที่เทวาลัยพระพิฆเนศห้วยขวาง
ทั้งนี้ หากสายมูคนไหนอยากจะตามไป กราบไหว้ขอพร "ครูกายแก้ว" ก็สามารถไปได้ตามสถานที่ ดังนี้
ห้วยขวาง : ครูกายแก้วจะอยู่บริเวณเทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง
บางใหญ่ : ตั้งอยู่บริเวณด้านในของเทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่
เชียงใหม่ : บริเวณศาลพระพิฆเนศ อาเขตเชียงใหม่
คาถาบูชาครูกายแก้ว
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธ ธัสสะ (ตั้งนะโม 3 จบ)
มะอะอุ ครูกายแก้ว เมตตา จะมหาราชา สัพพะสเน่หา มะมะจิตตัง ปิยังมะมะ (สวด 9 จบ)