- 13 ส.ค. 2566
เปิดประวัติ นายแพทย์ จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านอ่อง น้องชายท่านอ้น หลังเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเยี่ยมบ้านเกิด
หลังจากที่ "ท่านอ่อง" นายแพทย์ จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมาเยี่ยมบ้านเกิดและรับพี่ชายคือ "ท่านอ้น" กลับไปยังอเมริกาด้วยกันทำให้หลายๆคนอยากรู้จัก ท่านอ่อง โอรสคนที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มากยิ่งขึ้น
โดยหลังกลับมายังประเทศไทยในรอบ 27 ปีของทั้งคู่ วันที่ 13 สิงหาคม 2566 ท่านอ่องและท่านอ้นได้เดินทางไปยัง อาคาร 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชานุสาวรีย์พระสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้ง สักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ โดยมีผู้บริหารระดับสูง โรงพยาบาลศิริราช ให้การต้อนรับ
สำหรับประวัติท่านอ่อง นายแพทย์ จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าจักรีวัชร มหิดล เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ปัจจุบันอายุ 40 ปี
ท่านอ่องเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)
มีพี่น้องอีก 4 คน คือ ท่านชายอ้วน จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์ , ท่านชายอ้น วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ , ท่านชายอิน วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ และ พระองค์หญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ท่านอ่อง เรียนชั้นมัธยมที่ Trinity Prep School ก่อนเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์ จนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทำงานเป็นนายแพทย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ท่านอ่องได้ทำช่อง Youtube ถ่ายทอดเรื่องราวและสาระความรู้เรื่องทางการแพทย์รายการ CMIC ออกอากาศทางช่อง chakriwat vivacharawongse, MD ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 1.75 แสนคน มีวิดีโอรวม 166 รายการ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก Chakriwat Vivacharawongse (จักรีวัชร วิวัชรวงศ์) ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.9 แสนคน
และท่านอ่องเคยได้เผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นนายแพทย์ว่าตนอยากเป็นหมอ เพราะเคยป่วยมาก่อน เนื่องจากท่านอ่องเคยตรวจเจอก้อนเนื้อในลำคอและโรคท้าวแสนปม (นิวโรไฟโบรมาโตซิส ชนิดที่ 2) ทำให้ค่อยๆ สูญเสียการได้ยิน จนต้องผ่าตัดและเข้ารับการฉายรังสีหลายครั้ง ทำให้เข้าใจคนไข้เป็นอย่างดี