- 14 ส.ค. 2566
เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา เข้าเยี่ยม "พลายประตูผา" พบยังตกมัน เป็นเหตุไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปีนี้
ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ สำหรับ พลายประตูผา ช้างไทยที่ส่งมอบให้กับประเทศศรีลังกา ในฐานะทูตสันถวไมตรี โดยก่อนหน้านี้ได้มีประเด็นที่หลายคนเรียกร้องอยากให้รับช้างอีก 2 เชือก ซึ่งได้แก่ พลายประตูผา และ พลายศรีณรงค์ กลับสู่มาตุภูมิประเทศไทยเช่นเดียวกันกับ พลายศักดิ์สุรินทร์ ที่ได้เดินทางกลับบ้านเกิดมารักษาอาการป่วยก่อนหน้านี้
ล่าสุดทางด้าน เพจเฟซบุ๊ก The Echo ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของช้างไทย ได้ระบุว่า พลายประตูผา ไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปีนี้ หลังจากช้างมีอาการตกมัน
โดยทางด้าน นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ได้ไปเยี่ยม พลายประตูผา หรือ Thai Raja ที่วัดสุธุฮุมโปลลา (Suduhumpola) เมืองแคนดี ซึ่งเป็นสถานที่ที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Sri Dalada Maligawa) นำมาแยกดูแลเชือกเดียวในช่วงที่ตกมัน โดย วัดสุธุฮุมโปลลา อยู่ห่างจากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วประมาณ 2.5 กิโลเมตร
สภาพทั่วไปของ พลายประตูผา เท่าที่เห็นภายนอก สมบูรณ์ดี มีควาญหลักและควาญสำรองรวม 2 คนดูแล ซึ่งขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่า พลายประตูผา จะไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่ Esala Perahera 21-31 August 2023 เนื่องจากยังอยู่ระหว่างตกมัน
โดยควาญผูกขา 3 ข้างของช้าง โดยขาหลังคล้องโซ่สั้นที่หุ้มด้วยยาง แล้วผูกไว้กับต้นไม้ ส่วนขาหน้าทั้ง 2 ข้างคล้องโซ่ยาว แล้วผูกไว้กับต้นไม้ ซึ่งการผูกค่อนข้างตึงพอควร
เอกอัครราชทูตไทย จึงถามควาญช้าง ซึ่งได้ความว่า ช้างสามารถล้มตัวลงนอนได้ แต่สาเหตุที่ไม่ผ่อนโซ่ให้ยาวกว่านี้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเอี้ยวตัวแล้วแว้งมาทำร้ายได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เอกอัครราชทูตไทยได้แจ้งแก่ไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว แล้วว่า เมื่อช้างหายจากอาการตกมัน หวังว่า จะผ่อนโซ่ให้ช้างมีความเป็นอยู่ประจำวันอย่างธรรมชาติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่ รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ และส่วนประกอบอื่นๆ ในบริเวณด้วยเช่น แหล่งน้ำ ถังน้ำให้ดีขึ้นด้วย โดยในอนาคตจะร่วมกันผลักดันให้สภาพความเป็นอยู่และการดูแลพลายประตูผาดียิ่งขึ้นต่อไป
ส่วนความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านการดูแลรักษาพยาบาลช้าง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้ในอนาคต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบเชิญสัตวแพทย์ 2 คน พร้อมทั้งภัณฑารักษ์ (หัวหน้าควาญ) ซึ่งดูแลรักษา “พลายศักดิ์สุรินทร์” โดยตลอดในช่วงที่พักพิงชั่วคราวที่สวนสัตว์เดฮิวาลา (Dehiwala) เดินทางมายังประเทศไทยประมาณต้นเดือนกันยายน