ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เสียชีวิตรายแรกในไทย พบมีโรคซ้อนเพียบ

กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้เสียชีวิตรายแรกจาก "โรคฝีดาษลิง" โดยผู้ป่วยพบการติดเชื้อ HIV- ซิฟิลิส ร่วมด้วย และมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสภาวะติดเชื้อรา

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่น และตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี 

 

ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เสียชีวิตรายแรกในไทย พบมีโรคซ้อนเพียบ

วันที่ 11 ก.ค. 2566 แพทย์ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง การติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว ซึ่งหลังได้รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 


ต่อมาวันที่ 9 ส.ค. 2566 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว มีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูก และคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขน ขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษวานรและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 ส.ค. 2566

 

ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เสียชีวิตรายแรกในไทย พบมีโรคซ้อนเพียบ

สำหรับโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 8 ส.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 คนในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 คน ชาวต่างชาติ 28 คน มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 คน หรือ ร้อยละ 43 ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 


ขณะที่ทางด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงเสียชีวิต 152 คนแล้วตั้งแต่เริ่มการระบาดในยุโรปและหลายประเทศตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลกมาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน