- 16 ส.ค. 2566
วันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า ป.ป.ช. ชงศาลยื่นยึดทรัพย์ พรชัย โควสุรัตน์" อดีตนายกอบจ.อุบลฯ ร่ำรวยผิดปกติกว่า 93.4 ล้าน
วันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีรายงาน ป.ป.ช. ชี้มูล พรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายกอบจ.อุบลฯ รวยผิดปกติกว่า 93.4 ล้าน ยื่นส่งศาลยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน ซ้ำยังพบว่านายพรชัยยังอยู่ระหว่างหลบหนีหลังโดนศาลออกหมายจับคดีทุจริตด้วย
รายงานเผยว่า นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงกรณีมีคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ อท 282/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อท 34/2566 นายพรชัย โควสุรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี กับพวก เป็นจำเลย
คดีนี้กล่าวหาว่า นายพรชัย กับพวก เข้าไปมีส่วนได้เสียเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอ.อี.ซี อุบลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าเป็นคู่สัญญากับ อบจ.อุบลราชธานี ในโครงการจัดซื้อกล้องส่องทางไกล ชนิดบันทึกวิดีโอ Full HD 2D/3D ซูมแบบดิจิตอลไม่น้อยกว่า 20 เท่า จำนวน 2 กล้อง โดยนายพรชัย นายก อบจ.อุบลราชธานี ได้มีพฤติการณ์สั่งการให้นายสุทัศน์ เรืองศรี เลขานุการของนายพรชัย ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอ.อี.ซี ซีเคียวริดี้ แอนด์ ลอว์ จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ.อี.ซี อุบลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
โดยในการบริหารจัดการบริษัท นายพรชัย มีพฤติการณ์สั่งการให้ลูกจ้างของ อบจ. เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่อยู่ภายใต้การสั่งการและควบคุมของนายพรชัย และต่อมาเมื่อ อบจ. ได้จัดซื้อจัดจ้างกล้องส่องทางไกล ชนิดบันทึกวิดีโอ Full HD 2D/3D ซูมแบบดิจิตอลไม่น้อยกว่า 20 เท่า จำนวน 2 กล้อง ก็ปรากฏว่า บริษัท เอ.อี.ซี อุบลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้เป็นคู่สัญญากับ อบจ.ในการจัดหากล้องส่องทางไกลดังกล่าว
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 152 (เดิม), 157 (เดิม) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 126(1),(2), 168, 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กรณีเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 86
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเลขานุการนายพรชัยและเป็นผู้จัดทำเอกสาร จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานจ้าง อบจ.อุบลราชธานี และเป็นกรรมการบริษัทคู่สัญญากับ อบจ.อุบลราชธานี และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการเตรียมเอกสารตามคำสั่งของนายพรชัย จำคุกจำเลยที่ 1,2,3 คนละ 4 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสาม ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยทั้งสาม ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ทั้งนี้ นายพรชัย อยู่ระหว่างหลบหนี ศาลออกหมายจับไว้แล้ว
นายนิวัติไชย กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีวินิจฉัย ว่า นายพรชัย เมื่อครั้งดำรงนายก อบจ.อุบลราชธานี ร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอยู่ในชื่อของบริษัท เป็นไทยแทรคเตอร์ จำกัด หรือบริษัท อีสานรีช จำกัด และน.ส.วิสิฏฐี ศรีธัญรัตน์ ราคาประเมินมูลค่า 93,473,640 บาท โดยมีที่ดินอยู่ในชื่อของบริษัท เป็นไทแทรคเตอร์ จำกัด จำนวน 53 แปลง รวมเนื้อที่ 640 ไร่ 84 ตารางวา (ราคาประเมินมูลค่า 82,708,655 บาท) อยู่ในชื่อของนางสาววิสิฏฐี ศรีธัญรัตน์ จำนวน 22 แปลง รวมเนื้อที่ 122 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา (ราคาประเมินมูลค่า 10,764,985 บาท)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ขอให้ศาลสั่งทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด