- 22 ส.ค. 2566
วันนี้เราจะพาทุกคนไปเปิดประวัติ "เศรษฐา ทวีสิน" เจ้าพ่ออสังหาฯหมื่นล้าน สู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดย นายเศรษฐา ทวีสิน มีชื่อเล่น นิด เกิดวันที่ 15 ก.พ. 2505 เศรษฐาเป็นบุตรคนเดียวของของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล) โดยบิดาของเศรษฐาเสียชีวิตตั้งแต่เศรษฐาอายุเพียง 3 ปี
ด้านชีวิตส่วนตัว "เศรษฐา ทวีสิน" สมรสกับ "หมออ้อม พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน" มีบุตร 3 คน ได้แก่ "น้อบ ณภัทร ทวีสิน", "แน้บ วรัตม์ ทวีสิน" และ "นุ้บ ชนัญดา ทวีสิน"
หลังเรียนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2529 เศรษฐา ทวีสิน กลับมาทำงานที่ประเทศไทยในบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวเร็ว (FMCG) ในเวลานั้น P&G เพิ่งย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเขาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดคนแรก เมื่อทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี P&G เสนอให้เขาทำงานในต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นหนทางเดียวที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในเส้นทางอาชีพ
ด้านเศรษฐาที่เพิ่งกลับจากการใช้ชีวิตในต่างประเทศได้ไม่นาน ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในเมืองไทยกับครอบครัวจึงตัดสินใจปฏิเสธโอกาสการทำงานดังกล่าว ก่อนที่จะไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับอภิชาติ จูตระกูล ผู้เป็นญาติในชื่อ บริษัท แสนสำราญ จำกัด (ชื่อเดิมของแสนสิริ) ในปี พ.ศ. 2533
นอกจากตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทแสนสิริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปี พ.ศ. 2566 เศรษฐาดำรงตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท เช่น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน)), บริษัท สิริพัฒน์ ทเวลฟ์ จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ อีเลฟเว่น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ เท็น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ ไนน์ จำกัด เป็นต้น
ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 เศรษฐาได้ทำรายการโอนหุ้นของ SIRI จำนวน 661 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.44% ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับ ชนัญดา ทวีสิน บุตรคนเล็ก ส่งผลให้เขาไม่ได้ถือหุ้น SIRI อีกต่อไป จากที่ก่อนการทำรายการเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของ SIRI และได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดย่อยของบริษัท ได้แก่ ประธานกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการลงทุน และกรรมการบรรษัทภิบาทและความยั่งยืน โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป ถือเป็นการเปิดฉากการเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ
เศรษฐาเปิดเผยว่าเขาไม่ได้มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมาก่อน แต่สิ่งที่เริ่มจุดประกายให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้นคือนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐาเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ บวกกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลังมานี้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นว่าและความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เศรษฐาเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกได้ ตนจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเพราะเชื่อว่าเพื่อไทยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เศรษฐาสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย และในเดือนมีนาคม 2566 นั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้กับแพทองธาร ชินวัตร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อคุณเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับอีกสองท่าน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ
เศรษฐาพูดเสมอว่า “ผมไม่ได้อยากเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะอยากมีตำแหน่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง”