- 25 ส.ค. 2566
เปิดโฉมหน้า ไพโรจน์ ทุ่งทอง เจ้าพ่อสวนลุม เจ้าของโรงแรมตัวจริง หลังส่งทนายร้องศาลย้ายครูกายแก้ว ออกจากพื้นที่ด่วน...
จากกรณีนายไพโรจน์ ทุ่งทอง เจ้าของโรงแรม เดอะบาซาร์ แบงค็อก ถนนรัชดาภิเษก ออกแถลงการณ์แจงกรณีรูปปั้น ครูกายแก้ว ขนาดใหญ่ ที่ถูกนำมาตั้งบริเวณโรงแรม ซึ่งเป็นของบริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จํากัด
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 80 จดทะเบียนบริษัทมาตั้งแต่ปี 2552 แต่เมื่อปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 โรงแรมประสบปัญหา นายชาญ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 20 แนะนําให้นําบริษัทเข้าฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว นายชาญ ได้ห้ามไม่ให้ตนเองยุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการ กระทั่งนายชาญได้นำรูปปั้น ครูกายแก้ว มาตั้งในโรงแรมทำให้เกิดผลกระทบต่อตน ทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็น
โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา นายไพโรจน์ฯ ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นคําร้องต่อ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่ง ให้นายชาญนํารูปปั้นดังกล่าวออกไปจากบริเวณโรงแรม โดยศาลนัดไต่สวนคําร้อง ในวันที่ 12 กันยายน 2566 ส่วนกรณีที่มีการสอบถามว่า องค์กร หรือบุคคล ที่ไม่เห็นด้วยและที่ได้รับผลกระทบ จะสามารถยื่นคําร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ทําแผนนํารูปปั้นครูกายแก้วออกไปจากบริเวณโรงแรมได้หรือไม่นั้น น่าจะอยู่ในดุลพินิจของศาล ล้มละลายกลาง
สำหรับ นายไพโรจน์ ทุ่งทอง เจ้าของโรงแรม เดอะบาซาร์ แบงค็อก เป็นที่รู้กันดีว่า คือผู้ปลุกปั้นตลาดนัดกลางกรุง “สวนลุมไนท์บาซาร์” เพื่อนเรียกกันว่าเสี่ยเต่า เป็นอดีต ส.ว.จังหวัดอุทัยธานี ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของร้านอาหาร และนักการเมือง
เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 23 ปี ด้วยการผลิต “ถุงใจดี” ขายในช่วงน้ำท่วมหนักกรุงเทพมหานครในปี 2526 ก่อนเข้าสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรโปรเจ็กต์แรก “นวนคร วิลล่า” สร้างโรงงานสำเร็จรูปขาย พัฒนาคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์อีกหลายโครงการ
โดย “ไพโรจน์” ออกแบบและก่อสร้างเองทั้งหมด รวมถึงโครงการ “สารินเพลส” หลังเมเจอร์รัชโยธิน แม้จะขายต่อให้ “กลุ่มสาริน พร็อพเพอร์ตี้” แต่ได้กันพื้นที่ดาดฟ้าสร้างบ้าน 3 ชั้นไว้พักอาศัยกับครอบครัวจนถึงปัจจุบัน “ไพโรจน์” เลิกทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยมีหนี้สินติดตัวหลายร้อยล้านบาท แต่กำเงินก้อนสุดท้าย 30 ล้านบาท เช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมย่านสวนลุมพินีจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปิดตลาดกลางกรุง “สวนลุมไนท์บาซาร์” เมื่อปี 2541 มีทั้งพื้นที่ร้านค้าและอพาร์ตเมนต์ให้เช่า
หลังหมดสัญญาได้มาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยติดสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว 20 ไร่ เปิดตลาดนัดกลางกรุงอีกรอบ ชื่อว่า “ตลาดไนท์รัชดา” เป็นการทดสอบตลาด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี จึงตัดสินใจลงทุนขึ้นโครงการ “สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก” สร้างเป็น 2 อาคาร สูง 18 ชั้น และ 14 ชั้น มีพื้นที่ก่อสร้าง 165,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยร้านค้าย่อยประมาณ 200 ร้าน ยิมมวย โรงละคร ออฟฟิศให้เช่า อีเวนต์ ฮอลล์สำหรับจัดงาน ซุปเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมง โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก 800 ห้อง และที่จอดรถ 1,200 คัน ใช้เงินลงทุนไปร่วม 3,800 ล้านบาทถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่มากๆ