- 26 ส.ค. 2566
ประยุทธ์ โพสต์ซึ้ง ขอบคุณพี่น้องชาวไทยทุกคน 9 ปีที่มีความหมายที่สุดในชีวิต พร้อมอำลาตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 ของประเทศไทย
จากกรณี "นายเศรษฐา ทวีสิน" ได้นั่งแท่นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยแล้วเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่สภาได้มีการโหวตโดยเสียงเห็นชอบทั้งหมด 482 ไม่เห็นชอบ 165 งดออกเสียง 81 จากทั้งหมด 728
ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำปรึกษาในการสานงานบริหารประเทศ ณ ห้องโดมทอง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดย นายเศรษฐา กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง และพล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้แสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ที่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ล่าสุด ในเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ได้มีการโพสต์ระบุข้อความว่า “พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุดของชีวิต เป็น 9 ปีที่ได้ทำงานเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม และของเราทุกคน เป็น 9 ปีที่ผมได้ใช้สติปัญญา ทุ่มเททุกศักยภาพและกำลังความสามารถ สานพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งเชิดชูสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และเป็น 9 ปีของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านทัดเทียมนานาอารยประเทศ และพร้อมยกระดับไปสู่ประเทศชั้นนำของโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเหตุผลสำคัญได้แก่
1. เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี "ยุทธศาสตร์ชาติ" ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ
2. มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ
3. มีความพร้อมเรื่อง "เศรษฐกิจดิจิทัล" และ "เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม" โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G - Data center - Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ
4. มีการกำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21
5. สร้างกลไกในการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ (1) "น้ำ" ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ (2) "ดิน" ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร (3) "ป่า" เช่น ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ
6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น (1) ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ (2) ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกในอนาคต
7. ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก
8. ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย - สะดวก - โปร่งใส เช่น (1) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ (2) UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น
9. สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน
ทั้งนี้ การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ราบรื่น หรือง่ายดาย ยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวน
ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อนข้าราชการ และทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละและอดทนในทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ซึ่งผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าประเทศไทยนับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่เราสร้างกันมานั้นได้รับการต่อยอด ก็จะทำให้เราเดินทางเข้าสู่ "เส้นชัย" ได้เร็ววันขึ้นครับ
ขอบคุณเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha