- 28 ส.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เปิดข้อมูลให้ดูกันชัด ๆ แช่ผักและผลไม้ด้วยถ่าน .. ถ่านสามารถช่วยดูดซับสารพิษหรือยาฆ่าแมลง จริงหรือไม่
"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ
"แช่ผักผลไม้ในน้ำใส่ถ่านไม้ ไม่ได้ผลนะครับ"
เรื่องนี้เก่าแล้ว เคยเตือนแล้ว แต่มีกลับมาแชร์กันใหม่ครับ โดยมีการแนะนำต่อๆ กันให้ "แช่ผักและผลไม้ด้วยถ่าน .. ถ่านสามารถช่วยดูดซับสารพิษหรือยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนติดมากับผักและผลไม้ โดยให้แช่น้ำ 15-20 นาที แล้วล้างผักผลไม้ให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด .. ถ่านที่แช่แล้ว ให้นำไปตากแดด สามารถนำถ่านกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง” !?
ไม่จริงนะครับ ! ถ่านไม้ธรรมดาที่ใช้หุงหาอาหารแบบนี้นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรในการดูดซับสารพิษในอาหาร แถมจะทำให้สกปรกเปล่าๆ ต้องมาล้างออกให้เกลี้ยงอีก
ที่พอจะมีความเป็นไปได้บ้าง ก็จะมีเป็นถ่านชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า "ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal)” ซึ่งเป็นถ่านคาร์บอนอีกรูปแบบหนึ่งที่ผ่านการผลิตมาเป็นพิเศษ มีคุณสมบัติในการดูดซับสารที่อยู่ในก๊าซหรือของเหลวได้ และมักนำมาประโยชน์ในกระบวนการกรองให้บริสุทธิ์
แต่ถึงเป็นถ่านกัมมันต์ (เช่น ไปเอามาจากไส้กรองน้ำ) ก็ไม่ได้แนะนำให้เอามาใช้ล้างผักและผลไม้นะครับ เพราะไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมา
ซึ่งตรงกับที่สำนักข่าว AFP เคยทำสกู๊ป factcheck thailand เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยการไปสัมภาษณ์ คุณสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (จาก คลิก) ระบุว่า
"แม้ว่าจะมีเคสทางการแพทย์ ที่ถ่านกัมมันต์ถูกนำมาใช้ดูดซับสารพิษในร่างกายเรา แต่ไม่สามารถรับประกันได้ ว่าวิธีนี้จะสามารถดูดซับสารทั้งหมดจากผักผลไม้” .. “ไม่แนะนำวิธีดังกล่าวนะครับ” .. “ยังไม่มีงานวิจัยที่แนะนำให้ใช้ถ่านสำหรับการล้างผักและผลไม้”
สำหรับวิธีการล้างผักและผลไม้ ก่อนนำมารับประทานนั้น ทางกรมอนามัยแนะนำให้ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำไหล , น้ำผสมน้ำส้มสายชู และน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต แล้วล้างต่อด้วยน้ำสะอาด ... ไม่ได้แนะนำการใช้ถ่านหรือถ่านกัมมันต์ แต่อย่างไร
เสริมด้วยข้อมูลจากรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" ของสำนักข่าวไทย อสมท. ตอน : แช่ผักผลไม้ด้วยถ่าน ดูดซับสารพิษและยาฆ่าแมลงได้ จริงหรือ ? (https://www.youtube.com/watch?v=3RIXF7rtTho)
ซึ่งทางรายการได้ไปตรวจสอบกับ รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์หลักสูตรพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ข้อสรุปว่า "ไปเรื่องมั่ว อย่าแชร์" ดังนี้
Q : แช่ผักผลไม้ด้วยถ่านหุงต้ม ช่วยดูดซับสารพิษได้จริงไหม ?
A : ถ้าเป็นถ่านธรรมดา อย่างในภาพอย่างนี้จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้ช่วย ถ้าดูจากภาพ อันนี้ถ่านธรรมดา อันนี้จะไม่มีผล ถ่านมันก็จะช่วยดูดซับพวกกลิ่นอับที่บางทีเราเอาไปใส่ในตู้เย็น แต่ถ้าเอามาแช่น้ำเพื่อล้างผักแบบนี้ จริง ๆ มันไม่ได้ช่วย
Q : บางท่านลองทำตาม แล้วอาจคิดว่าได้ผล ?
A : บางทีมองในน้ำที่เราเอาไปแช่ มันมีเป็นฝุ่นเป็นผง คราบไขมันลอยขึ้นมา แล้วเราก็เข้าใจผิด คิดว่าเออนี่แหละมันคือยาฆ่าแมลงที่ออกมา หรือกลิ่นมันหายไปอะไรอย่างนี้ ลักษณะทางกายภาพแบบนี้ มันไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่ายาฆ่าแมลง มันละลายออกมาในน้ำที่เราเอาไปแช่ มันเป็นเทคนิคที่ซับซ้อนจริง ๆ ที่ต้องใช้การพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ เราถึงจะรู้ว่ามันลดลงได้หรือเปล่า เพราะมันเป็นสารเคมี
Q : หลายคนอาจนึกไปถึงถ่านอีกแบบที่มักใช้ดูดสารพิษ ?
A : จริง ๆ มันมีถ่านอีกชนิดหนึ่ง ที่เราเรียกว่า activated charcoal หรือ ถ้าภาษาไทยก็จะเรียกว่า ถ่านกัมมันต์ อันนี้จะช่วยดูดซับพวกสารพิษ แต่ต้องเป็นสารพิษที่อยู่ในน้ำ สารพิษที่ต้องมาละลายในน้ำ ยกตัวอย่างเรานึกถึงเครื่องกรองน้ำ แต่ทีนี้เรามองถึงยาฆ่าแมลงมันอยู่ในผักผลไม้ มันไม่ได้ละลายน้ำออกมาทั้งหมดได้ 100% ด้วยคุณสมบัติที่มันไม่ละลายน้ำ มันก็ยังคงติดอยู่ในผักผลไม้อยู่ดี
Q : ถ่านกัมมันต์ ก็ไม่เหมือนกัน กับถ่านฟืน ?
A : คือ (ถ่านกัมมันต์) มันต้องผ่านความร้อนสูงมาก ๆ มันจะไม่ใช่ถ่านก้อน ๆ ที่เราเห็นแบบในภาพแบบนี้ คุณสมบัติมันไม่เหมือนกัน
Q : แต่ที่ไม่แตกต่างกัน คือ สองถ่านนี้ ไม่เหมาะจะใช้ล้างผักผลไม้ ?
A : ใช่ อย่างตัว activated charcoal ที่เราบอกว่า โอเคมันอาจจะมีคุณสมบัติดีกว่าถ่านทั่วไป ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยาเอง
เขาก็ยังไม่อนุญาตที่จะเอามาล้างผักผลไม้ เพื่อลดการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืช เขาอนุญาตเพียงแค่เป็นสารที่ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับโซเดียมไบคาร์บอเนต
Q : แล้วถ้าจะล้างผักผลไม้ ต้องใช้สารอะไรล้าง ?
A : วิธีหนึ่งที่เราจะตรวจสอบ ก็คือ ให้ไปดูในบัญชีแนบท้ายประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 412 เป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือฆ่าเชื้อสำหรับอาหาร อย่างในปัจจุบันมันจะมี 13 กลุ่ม เพราะเวลา อย. เขาอนุญาต จะอนุญาตในเรื่องของประสิทธิภาพหรือประสิทธิผล และผู้บริโภคก็ปลอดภัยด้วย
Q : หากจะล้างผักผลไม้ การล้างและสารช่วยล้างต้องเหมาะสม ?
A : เราอาจจะไปซื้อพวกน้ำยาล้างผักผลไม้ที่ได้เลขทะเบียน อย. แต่ที่สำคัญคือเราต้องดูสูตรและปฏิบัติตามข้อแนะนำในการใช้
Q : หรือบางท่านจะใช้สิ่งที่มีในครัวเรือน ?
A : ก็คือพวกน้ำส้มสายชู 1 ส่วนผสมในน้ำเปล่า 4 ส่วน แช่ไม่ต่ำกว่า 5 นาที
แต่ที่สำคัญก็คือว่า เราต้องมาล้างในน้ำสะอาดที่แช่ประมาณ 2 ครั้ง หรือน้ำที่ไหลผ่านช้า ๆ อะไรอย่างนี้ ก็ได้ เป็นการล้างเอาพวกน้ำยาออกไป หรือว่าเป็นพวกผงฟูค่ะ หรือเรียกว่าโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือว่าด่างทับทิม ก็จะช่วยพวกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วย ถ้าเราทานพวกผักสด
Q : และการถูด้วยมือ ก็มีส่วนช่วย ?
A : สารเคมีมันก็มีบางประเภทที่มันจะเป็นพวกเกาะติดอยู่ที่ใบ อย่างเช่นพวกกะหล่ำ คะน้า อะไรพวกนี้ เวลาที่เราล้าง ให้ล้างโดยเอากาบใบออกมา ตัดส่วนที่เราไม่กินทิ้งไปก่อน แล้วเวลาล้างผ่านน้ำไหลให้ใช้มือถู เพราะฉะนั้น สารเคมีที่เป็นลักษณะเกาะติดใบพวกนี้ก็จะหลุดออกไป แล้วมันจะไหลผ่านน้ำออกไป
Q : สำหรับผลไม้ที่ดูมันวาว ดูสดใหม่เสมอ บางชนิด อาจารย์แนะนำว่า ควรปอกเปลือกทิ้ง ?
A : คือ อย่างผลไม้ที่เคลือบแว็กซ์ มันเป็นส่วนที่เคลือบอยู่ที่เปลือก ที่จะช่วยคงสภาพที่อุณภูมิห้องไว้ได้นาน แต่จริง ๆ แว็กซ์ จะเป็น Food Grade (ใช้กับอาหารได้) แต่เพียงแต่ว่า แว็กซ์มันอาจจะเป็นตัวที่มันยิ่งไปเคลือบ
ทำให้พวกสารกำจัดศัตรูพืชมันไม่สามารถที่จะถูกล้างออกมาได้ เพราะฉะนั้นอย่างที่ใช้แว็กซ์ อย่างพวกส้ม อย่างแอปเปิ้ล ส่วนใหญ่ เพื่อให้ปลอดภัยก็คือเราล้างก่อน เราไม่ต้องไปแช่ในสารอะไร แช่น้ำธรรมดา แล้วเราก็ปอกเปลือกทิ้งไป เราทานส่วนข้างใน อันนี้ก็ปลอดภัยส่วนหนึ่ง
Q : ส่วนผักที่ต้องผ่านความร้อน เบาใจไปได้บ้าง ?
A : แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ต้องกังวลมากก็คือว่า ถ้าเราเอาไปประกอบอาหารโดยผ่านความร้อน สารพิษจะถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง แต่ในกรณีที่เราทานผักสด หรือผลไม้ที่เราไม่ได้ปอกเปลือก อันนี้เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
Q : สรุปแล้วที่แชร์แนะนำให้ล้างผักผลไม้ด้วยการแช่ถ่านนี่เป็นอย่างไร ?
A : ก็ไม่จริง แล้วก็ไม่ควรแชร์ต่อ เพราะโดยปกติถ่านจากการเผาไหม้โดยทั่วไปในลักษณะแบบนี้ มันไม่ได้มีคุณสมบัติในการไปดึงเอายาฆ่าแมลงออกมาจากผักผลไม้