- 30 ส.ค. 2566
"ดร.พีรภัทร ฝอยทอง" แจงชัดดราม่าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" ใครผิดใครถูก ชี้ทางออก เรียก 102 ล้านไม่ต้องถึงศาล
จากกรณีที่ร้านอาหารชื่อดังอย่าง "ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant" ที่มีเมนูฮิตอย่าง "ปังชา" ได้ออกมาโพสต์ว่า ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" แล้ว พร้อมสงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนที่สุดทางร้านเองต้องออกมาประกาศแจ้ง การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" มีการสื่อสาร ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขออภัยพร้อมขอบคุณทุกคนที่อธิบายให้ความรู้
ล่าสุดวันที่ 30 ส.ค. 2566 ทางทีมข่าว"ไทยนิวส์ออนไลน์" ได้มีการโทรศัพท์ไปสอบถาม ดร.พีท "พีรภัทร ฝอยทอง" ทนายความและนักวางแผนการเงิน ถึงประเด็นดราม่าดังกล่าวถึงเรื่องการจดทะเบียน "ปังชา" ของร้านลูกไก่ทอง โดย ดร.พีรภัทร ระบุว่า ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา จริงๆต้องบอกว่ามันเป็นคำกลาง ทรัพย์สินทางปัญญามันมีอยู่หลายประเภทมากเช่นกัน แต่ในเรื่องนี้ที่เป็นประเด็นเขาบอกว่าจดอยู่ 3 อย่าง ลิขสิทธิ์ , สิทธิบัตร , เครื่องหมายการค้า
"ลิขสิทธิ์" ตัวแรกต้องบอกว่าเป็นงานสร้างสรรค์ พวกงานเพลง งานศิลปะ ต้องบอกว่าพวกนี้จริงๆไม่ต้องจดทะเบียน เพราะได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ทีนี้สิ่งที่เขาไปจดตามข้อมูลที่เห็นเป็นการไปจดแจ้ง ไปแจ้งเพื่อทราบในลักษณะของงานจิตรกรรม อาจจะเป็นลวดลายของแก้ว ลวดลายของอะไรอย่างนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องของตัวบิงซู ตัวน้ำแข็งไส หรือตัวปังชา อันนี้ไม่ใช่ลิขสิทธิ์แน่นอน
อันนี้ที่สองคือตัวของ "สิทธิบัตร" จะเป็นพวกลักษณะประดิษฐ์ หรืองานออกแบบผลิตภัณฑ์ เท่าที่เช็กดูเขาจะเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่าเขาจดตัวถ้วยไอศกรีมเท่านั้น ไม่จดในส่วนบิงซู หรือน้ำแข็งไสอะไรเลย สิ่งที่ได้รับความคุ้มครองในการออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี คือคนอื่นยังทำตัวน้ำแข็งไส บิงซูได้ตามปกติ ยกเว้นอย่างเดียวคือห้ามเอาถ้วยเหมือนกันมาใช้ ห้ามประดิษฐ์ถ้วยแบบเดียวกันกับเขา แต่ถ้วยอย่างอื่นใช้ได้หมด
อันที่สาม "เครื่องหมายการค้า" ความคุ้มครองในลักษณะของชื่อ ของแบรนด์ โลโก้ พวกนี้ก็ต้องจดทะเบียนเหมือนกัน แต่เงื่อนไขหนึ่งในการห้ามจดทะเบียนก็คือ ถ้าจดทะเบียนต้องมีเครื่องบ่งเฉพาะ หมายความว่าไม่ใช่ในลักษณะสามัญธรรมดาของสินค้าประเภทนั้น เช่น เราทำร้านขนมปัง เราจะเอาคำว่า "ปัง" หรือ "ขนม" มาจดเป็นชื่อร้านไม่ได้
ประเด็นในเรื่องนี้ที่สิ่งที่เขาจดเครื่องหมาย ถ้ามองดูให้ดีในรูปเขาจะเป็น รูปผู้หญิงใส่ชุดไทยนั่งอยู่กับถ้วยไอศกรีม แล้วก็จะเขียน PANG CHA , THE BEST THAI TEA พวกคำเหล่านั้น ถ้าอ่านดีๆสิ่งที่เขาขอจดไม่ขอถือสิทธิ หรือว่าสละสิทธิในคำเหล่านั้น แต่สิ่งที่เขาได้รับความคุ้มครองก็คือตัวรูป คือเราจะทำรูปที่เหมือนกันเขามาใช้เป็นแบรนด์โลโก้ไม่ได้ แต่พวกคำว่าปังชา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ สามารถนำมาใช้ต่อได้ เพราะคำนี้เป็นคำสามัญ
ส่วนกรณีที่ทางร้านออกมาชี้แจงที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทางร้านควรอธิบายข้อมูลตรงส่วนไหนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่?
ดร.พีรภัทร กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการก็อาจต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เขาอาจจะยังไม่เข้าใจในกฎหมาย อาจจะต้องปรึกษากรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้ออกมาชี้แจงก็ค่อยข้างชัดเจน อีกส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าก็คือการส่งโนติส (Notice) ไปหาร้านต่างๆ คิดค่าเสียหายตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางร้านควรยุติการดำเนินคดีกับร้านอื่นๆ ที่เขาขายปังชาอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีทนายส่งคำเตือนเรียกเงิน 102 ล้านบาท กับร้านอื่นๆที่ตั้งชื่อเหมือนกับ "ปังชา" นั้น เขาไม่มีสิทธิเรียกร้องได้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่มีสิทธิที่จะใช้คำว่าปังชาคนเดียว ดังนั้นการที่เขาไปเรียกร้องคนอื่น โดยที่ตัวเองไม่มีสิทธิ ตัวเขาเองอาจจะเป็นกระทำละเมิดก็ได้ อันนี้ต้องระวังร้านเองอาจจะโดนฟ้องกลับเองก็ได้
เรื่องนี้ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการจบเรื่องแต่โดยดี ทางร้านลูกไก่ทองอาจจะต้องออกมาขอโทษ และประกาศว่าที่ตัวเองได้ใช้สิทธิส่งจดหมายทวงถามหรือโนติสไป อาจเป็นความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนของตัวเองว่าเขามีสิทธิที่จะฟ้องร้อง แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว ก็อาจจะยกเลิกโนติสที่ส่งไปแล้วจากกันด้วยดี ไม่มีการติดใจอะไรต่อกัน ซึ่งตรงนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยพูดคุย ไม่จำเป็นที่ต้องไปถึงศาลแล้วให้ศาลช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งเรื่องนี้สามารถไกล่เกลี่ยก่อนเรื่องถึงศาลได้อยู่แล้ว