- 30 ส.ค. 2566
คืนวันที่ 30 ส.ค.66 ถึง 31ส.ค.นี้ ชมปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน-ซูเปอร์บลูมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของ เดือน
30 ส.ค.66 "ซูเปอร์ฟูลมูน"ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และ ซูเปอร์บลูมูน โดยตั้งแต่คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 ประเทศไทยจะมี 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใหญ่ที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)
ซูเปอร์ฟูลมูน คืออะไร
โดย ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย
การที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้น เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะภาพเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เตรียมจัดสังเกตการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น.
เปิดพิกัดจุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร.
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ : โทร. 084-0882261
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา : โทร. 086-4291489
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : โทร. 084-0882264
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา : โทร. 095-1450411
ซูเปอร์บลูมูน - บลูมูน คืออะไร
สำหรับ บลูมูน (Blue Moon) หรือ ซูเปอร์บลูมูน ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที
สำหรับ บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย
ส่วนปีนี้ 2566 เราน่าจะทราบกันแล้วว่าตรงกับช่วง ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน)
ดูดวงจันทร์เต็มดวง "ซูเปอร์ฟูลมูน" ได้เวลาไหนบ้าง
- เวลาที่เหมาะสมสำหรับชมความสวยงาม ซูเปอร์ฟูลมูน - ซูเปอร์บลูมูน คือคืน 30 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566 หากคืนดังกล่าวฟ้าใสไร้เมฆ สามารถชมความสวยงามด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ