- 15 ก.ย. 2566
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศระเบียบ ก.ร. ว่าด้วยการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการรัฐสภาสามัญโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ พ.ศ. 2566
วันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบ ก.ร. ว่าด้วยการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการรัฐสภาสามัญโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ พ.ศ. 2566 ลงนามโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธาน ก.ร.
สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการรัฐสภาสามัญ โดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ เพื่อให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญมีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของทางราชการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (3) และมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ก.ร. จึงออกระเบียบไว้ มีสาระสำคัญ อาทิ ข้อ 4 หน่วยงานอื่นในประเทศที่จะให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติงานตามระเบียบนี้ จะต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับภารกิจของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ได้แก่
(1) ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือตามมติคณะรัฐมนตรี (2) ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา (3) องค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
(4) หน่วยงานภาคเอกชนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและได้รับการจัดให้มีดัชนีราคาในตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่สุดหนึ่งร้อยอันดับแรก หรือได้รับการจัดอันดับว่ามีธรรมาภิบาลในระดับดีมาก หรือดีเลิศ (5) หน่วยงานอื่นตามที่ ก.ร.กำหนด
ข้อ 2 ระบุว่าระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศเมื่อ 13 ก.ย. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป)
ข้อ 11 การสั่งให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ ให้หัวหน้า ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาพิจารณาเรื่อง ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาลักษณะงานของหน่วยงานอื่นในประเทศที่จะให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติ ซึ่งจะต้องเป็นงานที่ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติแล้วจะได้รับองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ตรงตามความต้องการของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ตลอดจนเหมาะสมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้นั้นได้รับมอบหมายในปัจจุบันหรือที่จะได้รับมอบหมายในอนาคต
(2) พิจารณาลักษณะของหน่วยงานอื่นในประเทศที่จะให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภารกิจของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา
(3) พิจารณากำหนดระยะเวลาที่จะสั่งให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่น ในประเทศซึ่งจะต้องไม่เกินหกเดือน ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อที่จะให้ได้ประสบการณ์มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หัวหน้าส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอาจพิจารณา ขยายเวลาให้ปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นนั้นต่อไปได้อีกหนึ่งครั้ง ไม่เกินหกเดือน
ทั้งนี้ ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศตามระเบียบนี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นจากทางราชการตามกฎหมาย หรือระเบียบว่าด้วยการนั้น ตลอดจนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นจากหน่วยงานอื่นที่ไปปฏิบัติงานตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างส่วนราชการสังกัดรัฐสภาและหน่วยงานอื่น