- 19 ก.ย. 2566
เฉลยแล้ว ใครเป็นคนเลือก "กำนันนก" นั่งตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศาสนาหรือวัฒนธรรม ของ กต.ตร.นครปฐม
จากกรณีที่ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดนครปฐม (กต.ตร.จังหวัดนครปฐม) ได้มีคำสั่งปลด นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก พ้นจากตำแหน่ง กก.ตร. "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศาสนาหรือวัฒนธรรม" หลังได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้กล่าวถึงกรณีคำสั่งแต่งตั้งกำนันนก เป็น กต.ตร. ว่าเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ที่เสนอโดยผู้บังคับการจังหวัดนครปฐม แต่เมื่อเกิดเรื่องได้เซ็นยกเลิกคำสั่งไปแล้ว โดยการเสนอของผู้บังคับการฯ เสนอไปยังผู้ว่าฯ ซึ่งการคัดเลือกต้องยอมรับว่ากำนันนกและผู้บังคับการฯ รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะถ้าหากไม่รู้จักก็คงไม่มีการแต่งตั้ง ประเด็นนี้กองปราบจะสอบสวนต่อ
ส่วนคุณสมบัติในการแต่งตั้งมีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว คนที่จะเข้ามาเป็น กต.ตร.ต้องเอาคนที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะมาสนับสนุนงานตำรวจ เหมือนเอาผู้แทนภาคประชาชนเข้ามาเพื่อจะบอกว่าในจังหวัดนครปฐมมีปัญหาอะไรบ้าง เป็นเครื่องสะท้อนการทำงานของตำรวจ จึงต้องเอาคนเหล่านี้เข้ามาเป็นตัวแทนของภาคประชาชน ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน แต่การคัดกรองก็จะต้องคัดคนดีเข้ามา ไม่ใช่คัดคนไม่ดีเข้ามา เรื่องนี้ต้องตำหนิ และวันนี้ทุกจังหวัดต้องตื่นตัวในเรื่องของการพิจารณา จะต้องไม่เอากลุ่มผู้อิทธิพลเข้ามาอยู่ใน กต.ตร.เรื่องนี้ต้องไปปรับเปลี่ยน
สำหรับ กต.ตร.จังหวัด มีจำนวน 19-23 คน ประกอบด้วย
กรรมการโดยตำแหน่ง 9-3 คน
1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรการ
2. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1
3. อัยการจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2
4. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นกรรมการ
5. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกรรมการ
6.ผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค เป็นกรรมการ
7. รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นกรรมการ
8. หัวหน้าหน่วยงานใน สตม., ทท., ทล., และ รน. ซึ่งปฏิบัติราชการประจำอยู่ในจังหวัดนั้น เป็นกรรมการ
การได้มาของกรรมการ : เมื่อดำรงตำแหน่งทางราชการที่ระเบียบฯ กำหนดให้เป็นกรรมการฯ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (7คน)
1. ด้านการศาสนาหรือวัฒนธรรม
2. ด้านการศึกษา
3. ด้านการแพทย์
4. ด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจบริการ
5. ด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม หรือ ธุรกิจการเงิน
6. องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์
7. ด้านเกษตรกรรม
การได้มาของกรรมการ : กรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือก
ตัวแทนประชาชน (3 คน)
การได้มาของกรรมการ : กรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกจากกลุ่มบุคคลที่เคยเป็น กต.ตร.สภ. ซึ่งผ่านการคัดเลือกจาก กต.ตร.สภ. แล้ว
หน้าที่ของ กต.ตร.มีอะไรบ้าง
1. รับแนวทางและนโยบายการพัฒนาและการบริหารงานตำรวจจาก ก.ต.ช. ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามนโยบาย
2. ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ ให้เป็นไปตามนโยบาย ก.ต.ช.
3. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการ และการบริหารงานตำรวจ
4. ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจ ให้เป็นไปตามนโยบาย ก.ต.ช.
5. รับคำร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจ และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ก.ต.ช. ว่าด้วยการรับคำร้องเรียนของประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ
6. ให้ข้อมูลข่าวสาร และเสนอปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่
7. ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือสนับสนุนการประชาสัมพันธ์งานของสถานีตำรวจ
8. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ กต.ตร.สน. มอบหมาย
9. รายงานผลการปฏิบัติงานให้ ก.ต.ช. ทราบ ตามที่ ก.ต.ช. กำหนด
10. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่ ก.ต.ช. มอบหมาย