- 20 ก.ย. 2566
ย้อนเส้นทาง4 ปี เมืองโบราณศรีเทพ สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4ของไทยในรอบ 30 ปี และถือเป็นมรดกโลกแห่งที่7 ของประเทศไทย
จากข่าวดีของคนไทย เมื่อ ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย โดย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ซึ่ง "ศรีเทพ" เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ 1ใน10แห่งของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2527
การค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ.2447 ประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า "เมืองศรีเทพ"
จุดเริ่มต้นการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ประเทศไทยได้นำเสนอเมืองโบราณศรีเทพบรรจุอยู่ในบัญชีเบื้องต้นมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน2562 และได้นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกต่อยูเนสโก ในเดือนมกราคม 2564
รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ประมาณ 5145 ไร่ ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ประกอบด้วย
-เมืองโบราณศรีเทพ
-โบราณสถานเขาคลังนอก
-โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลกล่าวคือ เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองสำคัญสมัยทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ1000 -1400 ปี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองโบราณศรีเทพ มีรูปแบบผังเมืองที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ภายในเมืองประกอบด้วยศาสนสถานมากกว่า 112 แห่ง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเป็นของตนเองที่เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ” หลักฐานที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ แสดงถึงความผสมผสานของศาสนาและความเชื่อ ทั้งศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและมหายานที่รับจากประเทศอินเดีย ปรับเปลี่ยนและพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะ ภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีที่เจริญรุ่งเรืองในภาคกลางของประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
ขั้นตอนการเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก
กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อพ.ศ.2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565 ต่อมาสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.2565
เมื่อผ่านการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมืองโบราณศรีเทพจึงได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย และในที่สุด ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19ก.ย.66 ถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ 4ของไทย ในรอบกว่า30ปี นับตั้งแต่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อปี 2535
สำหรับ 7มรดกโลกในประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย
4 มรดกโลกทางวัฒนธรรม
1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534
2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2535
4. เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2566
3 มรดกโลกทางธรรมชาติ
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534
2. ผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2548
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2564