- 21 ก.ย. 2566
กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ติดเชื้อ "โรคฝีดาษวานร" อย่างต่อเนื่อง มากกว่าครึ่งติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ย้ำโรคนี้ป้องกันได้
วันที่ 21 กันยายน 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2566) มีรายงานพบผู้ป่วยรวม 385 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
และในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 42 ราย เพศชาย 41 ราย เพศหญิง 1 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 38 ราย (ร้อยละ 90.5) เมียนมา 2 ราย จีน 1 ราย อิตาลี 1 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 29 ราย ( ร้อยละ 69.0) ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย 33 ราย Bisexual 3 ราย ชายรักหญิง 3 ราย ไม่ระบุ 3 ราย และผู้ป่วยใหม่ 17 ราย หรือ (ร้อยละ 40.5) มีประวัติเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำสำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ได้แก่ 1) มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย 2) ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยขณะผู้ป่วยมีอาการ 3) เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย 4) พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด และ 5) นั่งชิดติดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร โดนไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
หากมีประวัติดังกล่าว ให้สังเกตอาการตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ หรือมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก ไอ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ รวมถึงมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า บริเวณปาก หรือ อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน
ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนว่า โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดร่วมกันเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งสื่อสารวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422