- 22 ก.ย. 2566
ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย. และ สบส. บุกค้นคลินิกเสริมความงาม ใช้เครื่องสำอางฉีดแทนยา, ยาไม่มีทะเบียน และเครื่องสำอางไม่มี อย. กว่า 943 ชิ้น
วันที่ 22 กันยายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจค้น 4 คลินิกเสริมความงามที่ใช้เครื่องสำอางฉีดแทนยา, ยาไม่มีทะเบียน และเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง รวมกว่า 943 ชิ้น
ด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจพบการโฆษณาเครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบแอมพูล/ไวแอล มีการนำไปใช้ผิดวิธี ผิดวัตถุประสงค์ในคลินิกเสริมความงาม โดยอวดอ้างสรรพคุณในการบำรุงรักษา, ฟื้นฟูสภาพผิว, ลดฝ้า กระ จุดด้างดำ และริ้วรอย, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ฯลฯ อันมีลักษณะการใช้เช่นเดียวกับยารักษาโรค ซึ่งหากฉีดเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด อาจมีอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเครื่องสำอางดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และผลิตในเชิงการแพทย์ อีกทั้งไม่พบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ จึงประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ สบส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เข้าร่วมตรวจสอบคลินิกเสริมความงามที่เข้าข่ายกระทำความผิด
ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ อย., เจ้าหน้าที่ สบส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เข้าร่วมตรวจสอบสถานพยาบาลคลินิกเสริมความงาม 4 แห่ง ในพื้นที่เขตสวนหลวง, เขตบึงกุ่ม, เขตดุสิต และเขตวังทองหลาง
จากการสอบสวนปากคำแพทย์และผู้ช่วยพยาบาล ทั้ง 4 คลินิกให้การว่า เครื่องสำอางของกลางที่ตรวจยึด เป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งเลข อย. ประเภทเครื่องสำอางสำหรับทาผิว/ผิวหน้า โดยไม่ต้องล้างออก แต่ลักษณะขวดผลิตภัณฑ์บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบไวแอล มีลักษณะขวดแก้วใส มีฝาจุกยาง ปิดฝาขวดด้วยอลูมิเนียม คล้ายขวดยาสำหรับฉีด โดยอ้างว่ามีคุณสมบัติในการบำรุงรักษา, ฟื้นฟูสภาพผิว, ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และริ้วรอย, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ฯลฯ อันมีลักษณะผิดวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ และพบว่ามียาที่ไม่มีทะเบียน เครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจสอบใบประวัติการรักษาของผู้เข้ารับบริการพบว่า มีการตรวจรับรักษาด้วยการฉีดเครื่องสำอางที่ตรวจยึดจริง โดยของกลางที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด 943 ชิ้น
เป็นเครื่องสำอางที่นำมาฉีดกว่า 779 ชิ้น, ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยากว่า 109 ชิ้น และเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง 55 ชิ้นของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
หากพบว่ามีคลินิกเสริมความงามทั้ง 4 แห่งกระทำความผิดจริง ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องจะมีความผิด พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
1. ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558
2. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความสื่อถึงการนำไปฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เข้าข่ายเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือขาย ฝ่าฝืน ม.6(1) ประกอบ ม.27(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง (solution for injection) ฝ่าฝืน ม.32 (3) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความอันเป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ฝ่าฝืน ม.32 (4) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาและซักถามคลินิกที่เข้ารับบริการว่า ยาและเครื่องสำอางที่ทางคลินิกใช้รักษา มีการขึ้นทะเบียนตำรับยา และเครื่องสำอางได้จดแจ้งกับทาง อย. ถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของคลินิกเสริมความงามและแพทย์ที่นำเครื่องสำอางมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายผู้รับบริการ อาจเสี่ยงทำให้ชีวิตร่างกายของผู้รับบริการเสียชีวิต หรือเกิดอาการเจ็บป่วย อันมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงขอเตือนว่าไม่ควรนำเครื่องสำอางมาฉีดรักษาให้บริการโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนที่พบเห็นการโฆษณาใช้เครื่องสำอางมาฉีดรักษา หรือการโฆษณาเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผลร่วมตรวจสอบคลินิกที่โฆษณาและรีวิวในเว็บไซต์มีการนำเครื่องสำอางในขวดรูปแบบยาฉีด (แอมพูล/ไวแอล) ฉีดเข้าร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในการผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังเพื่อความสวยงาม โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่าน อย. แล้ว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้กรณีนำไปฉีดหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอก ดังนั้น หากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ทั้งนี้ อย. ได้มีการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่พบว่ามีการนำไปใช้ฉีดแล้ว จำนวน 3 ฉบับ และมีการดำเนินคดีผู้โฆษณาจำนวน 12 ราย
จึงขอเตือนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล ให้ตรวจสอบฉลากและพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแอมพูล/ไวแอลอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีการกล่าวอ้างว่า "ผ่าน อย. แล้ว" เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มีหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย
จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์เท่านั้น โดย อย.ได้จัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่บรรจุอยู่ในแอมพูล/ไวแอล เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ อย. หากพบว่าผลิตภัณฑ์จดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ห้ามนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ เพื่อผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังโดยเด็ดขาด และการใช้ยาในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล จะต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเท่านั้น
หากผู้บริโภคพบคลินิกที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected], Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ