- 26 ก.ย. 2566
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน แจงประเด็นสงสัยเรื่องการตรวจค้น จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านหรือไม่ พร้อมทิ้งท้ายหลักธรรม "กัมมุนาวัตตติโลโก" สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ...
พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงประเด็นสงสัยในเรื่องการตรวจค้น ระบุว่า ” การค้นนั้น!! …….. สำคัญไฉน?? “
กระผมบรรยายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องการค้น การจับ การสืบสวนสอบสวนมานานหลายปีดีดัก…….
เมื่อมีประเด็นข้อสงสัย ถกเถียงกันว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบ หรือ มิชอบ เช่น
- จะไปค้นบ้านใคร จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านด้วย หรือ ระบุเพียงเลขที่บ้าน?
- หัวหน้าผู้ทำการตรวจค้นต้องเป็นระดับใด??
- เจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านจะปฏิเสธ หรือ ประวิงเวลาในการเข้าปฏิบัติการตามหมายค้นได้หรือไม่???
การค้น นั้น……
การค้นที่รโหฐานจะต้องมีคำสั่ง หรือหมายของศาล(หมายค้น) “การค้น” เพื่อพบและยึดสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด , มีไว้เป็นความผิด ,ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นพยานหลักฐานยืนยันถึงการกระทำความผิด…. หรือเพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ……. (มาตรา 69 และ มาตรา 92)
ในการยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาล ผู้ยื่นจะต้องมีเหตุแห่งความสงสัย และพยานหลักฐานตามสมควรแสดงต่อศาลว่ามีสิ่งของดังกล่าวข้างต้น หรือ บุคคลที่มีหมายให้จับซุกซ่อน หรือซ่อนตัวอยู่ในนั้น โดยศาลจะทำการไต่สวนคำร้องจนสิ้นสงสัยก่อนที่ออกหมายค้นให้…….. หมายค้นที่ออกให้จะให้ความสำคัญกับสถานที่ๆจะทำการค้น เช่น เคหสถาน สถานที่ราชการ … โดยไม่ได้โฟกัสไปที่เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองสถานที่ที่จะค้น……….
หัวหน้าผู้ทำการตรวจค้น ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม หรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ซึ่งมีชื่อระบุในหมายค้น (มาตรา 97) ดังนั้น ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร(ยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ที่มีชื่อระบุในหมายค้นจะเป็นหัวหน้าผู้นำทำการตรวจค้นได้ตามกฎหมาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ที่จะเข้าทำการตรวจค้นจะปฏิเสธไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดมิได้ และมาตรา 100 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้ค้น เอาตัวบุคคลที่อยู่ในที่ค้น หรือจะถูกค้นที่มีพฤติกรรมจะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผลไปควบคุมไว้หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็นได้อีกด้วย
สื่อหลายแขนงเชิญกระผมให้ไปออกรายการและมีคำถาม ข้อสงสัยที่ฟังแล้วอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ….กระผม จึงขอถือโอกาสนี้ชี้แจงสื่อและสังคมในประเด็นข้างต้นมาด้วยความเป็นห่วงกับการที่มีการให้ข่าวแล้วทำให้สังคมไขว้เขว โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันว่าด้วยการนี้จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และที่สำคัญจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และโดยสุจริต
“กัมมุนาวัตตติโลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน
กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม
25 กันยายน 2566