- 04 ต.ค. 2566
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีเด็ก 14 ยิงกลางพารากอน ยืนยันมีประวัติการรักษาทางจิตจริง อย่าซ้ำเติม พ่อแม่เด็กเจ็บปวดมากแล้ว
วันที่ 4 ตุลาคม 2566 จากกรณีเหตุสะเทือนขวัญ เด็ก 14 ปีใช้ปืนไล่ยิงกลางห้างพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายละบาดเจ็บอีก 7 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้และจากการสอบปากคำพบว่ามีอาการหูแว่ว และยังไม่พร้อมให้การมากนัก นอกจากนี้ยังพบว่ามีประวัติการรักษาอาการทางจิตเวช
ล่าสุด นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันเรื่องดังกล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่าเด็กชายอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุในห้างสรรพสินค้าดังกลางเมืองนั้น เคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ข้อเท็จจริงพบว่า รักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก ซึ่งรักษามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่ก่อนหน้านี้อาจมีการรักษาที่อื่น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการรักษาได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายก็เสียใจอย่างมาก แต่ไม่ก็ควรเกิดการบูลลี่ หรือการไปโทษใคร หรือซ้ำเติมใคร โดยเฉพาะพ่อแม่เด็กที่เจ็บปวดมากๆ จากเหตุการณ์ สิ่งที่สังคมจะต้องให้ความสนใจคือการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในสังคม ใส่ใจกันในครอบครัว
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ สน.ปทุมวัน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังจากทีม MCATT เดินออกมาส่งผู้ต้องหาวัย 14 ขึ้นรถควบคุมตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ว่า วันนี้ได้เข้ามาประสานดูแลเรื่องการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทั้งผู้ก่อเหตุ เหยื่อ ครอบครัว รวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่สยามพารากอน โดยเบื้องต้นยังไม่ได้พูดคุยกับผู้ก่อเหตุ ส่วนสภาพจิตใจของเด็ก ขอให้ถามกับทางตำรวจ โดยกระบวนการจะต้องประเมินสภาพจิตใจเด็กอย่างเป็นระบบ ยังไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้
ส่วนกระบวนการของ MCATT พร้อมให้คำปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมด ถ้ามีส่วนไหนจะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือก็จะเข้าไปทำการเยียวยาจิตใจ ถ้าหากพบว่ามีประเด็นไหนที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ทางจิตใจซึ่ง บางรายอาจจะรวมถึงการให้ยา หรือคนที่เกี่ยวข้องที่กินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับก็ต้องช่วยเหลือตามกระบวนการ หรือบางรายอาจจำเป็นต้องเข้าสู่การบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนอกจากการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องเชิงคดีแล้ว เช่นคนเห็นเหตุการณ์ ญาติของเขาก็ต้องเข้าไปดูแลด้วย และวันนี้มาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดูแลทั้งหมดจะเป็นไปอย่างครบถ้วนที่สุด และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงสภาพติตใจเป็นสำคัญ