- 05 ต.ค. 2566
สคร.9 เตือนประชาชน อย่ากินหมูดิบ หรือลาบเลือดดิบ ๆ เสี่ยงโรคไข้หูดับ อาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้
ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับทั้งจากการกินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ และดื่มสุราร่วมกับการ กินอาหารสุกๆดิบๆ รวมไปถึงพ่อครัวแม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้
สคร.9 เตือนประชาชน อย่ากินหมูดิบ หรือลาบเลือดดิบๆ รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้วอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้หูดับว่า เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัสซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่
โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ อีกทั้งมีกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ได้รีวิวการรับประทานอาหารดิบ และมีพฤติกรรมการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ มีผู้ติดตามรับชมจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรืออยากลองทำตาม ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้
นอกจากนี้โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน (มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเชลเซียส) ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด
สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้ หูดับ 436 ราย มีผู้เสียชีวิต 19 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ 1 ราย จ.น่าน 1 ราย จ.ตาก 2 ราย จ.อุตรดิตถ์ 2 ราย จ.กำแพงเพชร 1 ราย จ.อุทัยธานี 2 ราย จ.นครปฐม 2 ราย จ.สมุทรสาคร 1 ราย จ.มหาสารคาม 2 ราย จ.หนองคาย 1 ราย จ.นครราชสีมา 3 ราย และ จ. ชัยภูมิ 1 ราย
สถานการณ์โรคไข้หูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยโรค ไข้หูดับจำนวน 109 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย (นครราชสีมา 4 ราย ชัยภูมิ 1 ราย) ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 55 ราย 2) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 11 ราย 3) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 10 ราย 4) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 3 ราย อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ เกษตรกร ร้อยละ 32.11 รองลงมาคือ รับจ้าง ร้อยละ 31.19 และทำงานบ้าน ร้อยละ 12.84 ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า การป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้
1.รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส
2.อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
3. ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู
5. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน
หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422