กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม เตรียมแผนรับมือ 4 แม่น้ำเสี่ยง

กรมชลประทานเตือนเฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม เปิดแผนรับมือวันที่ 9-15 ตุลาคม 2566 เผยแม่น้ำสายสำคัญ 4 สายเพื่อประชาชนเตรียมอพยพทันท่วงที

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 มีรายงานกรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น

 

กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม เตรียมแผนรับมือ 4 แม่น้ำเสี่ยง

กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม เตรียมแผนรับมือ 4 แม่น้ำเสี่ยง

 

อีกทั้งคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 8 - 11 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก อาจทำให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ได้แก่ แม่น้ำมูล เจ้าพระยา ท่าจีน และปราจีนบุรี

โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปรับการระบายน้ำ ตามที่คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ได้มีการประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงการระบายน้ำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม เตรียมแผนรับมือ 4 แม่น้ำเสี่ยง

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรองเพื่อบูรณาการความช่วยเหลือ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนล่วงหน้าไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงที