- 19 ต.ค. 2566
เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ชีวิตสุดรันทด จนเจอแต่ความลำบาก หลังอยุธยาผลัดแผ่นดิน ก่อนจบสวยในบั้นปลายชีวิต
เรียกว่ากระแสถล่มทลายตั้งแต่ละครออนแอร์ในวันแรก สำหรับละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ละครโทรทัศน์ไทยแนวย้อนยุค ภาคต่อของละครโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง "บุพเพสันนิวาส" ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ รอมแพง ผลิตโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด นำแสดงโดย โป๊ป ธนวรรธน์ และ เบลล่า ราณี ซึ่งสร้างกระแสฟีเวอร์ออเจ้ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ละครไทยได้รับความสนใจจากหลากหลายประเทศในเอเชียอีกด้วย
และอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจ คือ "ท้าวทองกีบม้า" หรือ "นางมารี กีมาร์ เดอ ปิน่า" ตัวละครที่มีเค้าโครงจากฉากหน้าประวัติศาสตร์จริง เป็นสตรีลูกครึ่งโปรตุเกส–ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คิดค้นสูตรตำรับคาวหวานอันเลื่องชื่อ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด
โดย ประวัติท้าวทองกีบม้า ชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์ ต้องพลันดับวูบลงเมื่อ "พระยาวิไชเยนทร์" หรือ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ทำให้ท้าวทองกีบม้าจึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับการถูกคุมขัง
ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของท้าวทองกีบม้า และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง แต่เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต
ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ ท้าวทองกีบม้า พยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง นายพลเดฟาร์ฌ ที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับท้าวทองกีบม้าว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วแถมยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวท้าวทองกีบม้า จากนั้นประวัติของท้าวทองกีบม้าก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่าท้าวทองกีบม้ากลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ ท้าวทองกีบม้า ปรากฏอีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นสามี ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับท้าวทองกีบม้า ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ
ขณะที่ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของท้าวทองกีบม้าได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้ท้าวทองกีบม้าเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน
ทั้งนี้ ท้าวทองกีบม้า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า
"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."
จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง
ขณะที่ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้า ได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ก่อนที่ ท้าวทองกีบม้า ได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2265 ตอนที่เธอมีอายุ 63-64 ปี
ขอบคุณข้อมูล โบราณนานมา