- 24 ต.ค. 2566
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถาม ติดโควิดหลายรอบ ทำอย่างไรถึงจะไม่ติดอีก
"หมอธีระ" นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เช้านี้ตรวจคนไข้หลายคน
มีคำถามน่าสนใจที่หลายคนถามมาโดยไม่ได้นัดหมาย
"คุณหมอคะ หนูติดโควิดมาหลายครั้งแล้ว กลัวจะเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว ควรทำอย่างไรดี แต่ละครั้งที่ติดก็มีอาการป่วยอยู่หลายวัน ปีที่แล้วติดไปแทบจะ 4 เดือนครั้ง จะทำยังไงไม่ให้ติดอีก?"
คำตอบ:
1. การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันเป็นหัวใจสำคัญ ยิ่งหากไปในที่ชุมชน มีคนมาก ก็คงต้องระมัดระวังตามหลักการที่เรารู้กันดี หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างไม่คลุกคลี
วันนี้เห็นคนไข้บางคนมารพ. แต่ไม่ป้องกันตัว เปิดหน้าสู้ไม่ยั่น โอกาสสัมผัสและติดเชื้อ ย่อมมีสูงกว่าคนที่ป้องกันตัว นี่คือสัจธรรมที่ปฏิเสธได้ยาก
2. หากติดเชื้อ ควรถือคติ แยกตัว ป้องกันการแพร่สู่คนรอบข้าง รักษาตัวให้หายดี การเตรียมหยูกยาไว้ประจำบ้านให้พร้อมรับเหตุการณ์เสมอจะช่วยให้จัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ที่สำคัญที่ต้องเน้นย้ำกันอีกครั้งคือ ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน พบว่า การตรวจด้วย ATK ในช่วงวันแรกๆ หลังมีอาการนั้นมีความไวลดลงเหลือ 30-60% เท่านั้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตรวจได้ผลลบปลอม ทั้งๆ ที่ติดเชื้ออยู่มีสูงขึ้นกว่าเดิม
ไวรัสจะพีคช่วงวันที่ 4-5 หลังมีอาการ ดังนั้นหากมีอาการป่วยและตรวจในช่วง 3 วันแรกแล้วได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในช่วงวันที่ 4-5 ด้วย
3. หลังจากที่ติดแล้ว ความรู้ที่เรามีคือ คนไข้บางส่วนจะเสี่ยงเป็น Long COVID ซึ่งรวมถึงการเกิดโรคเรื้อรังได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงความดันโลหิตสูง)
แม้โอกาสจะไม่มากก็ตาม เพราะสามารถลดความเสี่ยงโดยการได้รับวัคซีน รวมถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ได้มาตรฐาน
แต่สุดท้ายแล้วการติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงเสมอ
ดังนั้น หลังจากหายจากติดเชื้อ ควรประเมินสมรรถนะร่างกายตนเอง และตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อคัดกรองโรคหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้