- 07 พ.ย. 2566
"อธิบดีราชทัณฑ์" เซ็นคำสั่ง เด้ง 3 ผู้คุมเสี่ยแป้ง ออกจากราชการไว้ก่อน ยันชัด ไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง หากผู้คุมร่วมวงวางแผนเอื้อหลบหนี พร้อมไล่ออกจากราชการ
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ นายวรินทร ทองประจง (ผู้คุมผลัดบ่าย) นายเอกลักษณ์ ไชยกาญจน์ (ผู้คุมผลัดบ่าย) และนายวีระชัย หนูด้วง (ผู้คุมผลัดเช้า) ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ต้องคุมขังตามอำนาจศาล ซึ่งเป็นบุคคลต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆให้ผู้ที่อยู่ระหว่างคุมขัง หลุดพ้นจากการคุมขังไป
โดยผู้คุมราชทัณฑ์ทั้ง 3 รายดังกล่าวได้มีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยในการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง "นายเชาวลิต ทองด้วง หรือเสี่ยแป้ง นาโหนด นักโทษชายรายสำคัญ จนเป็นเหตุให้นายเชาวลิตก่อเหตุในช่วงกลางดึก เวลา 01.00 น. วันที่ 22 ต.ค. โดยการใช้กุญแจผีไขสะเดาะตรวนข้อเท้า และหนีออกจาก รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และขณะนี้เจ้าตัวยังอยู่ระหว่างหลบหนีกบดานที่ต่างประเทศ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ออกหมายจับในความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงความคืบหน้าเพิ่มเติมจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานจนขอศาลออกหมายจับ 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลนักโทษชายรายสำคัญ หรือนายเชาวลิต เสี่ยแป้ง นาโหนด แต่กลับปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้นักโทษก่อเหตุหลบหนีออกจากการควบคุมตัว
ซึ่งในกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 และในส่วนของกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อทั้ง 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกศาลออกหมายจับ ตนจึงได้มีคำสั่งลงนามให้ทั้ง 3 รายออกจากราชการไว้ก่อน และเมื่อมีเราการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหลักการก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่ไปด้วย
ซึ่งการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก็เพื่อพิจารณาเป็นคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ในส่วนของผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช (นายณรงค์ หนูคง) และผู้อำนวยการส่วนควบคุมของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช (นายพูชนะ หิรัญรัตน์) รวม 2 ราย ซึ่งได้ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี ก่อนหน้านี้ ก็จะถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการฯเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เบื้องต้นทั้งคู่ยังไม่ได้ถูกออกหมายจับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด จึงยังคงปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์
สำหรับการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการนั้น นายสหการณ์ ระบุว่า คณะกรรมการจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมให้ครบทุกประเด็น เพราะเราไม่ได้มองเพียงผู้คุมราชทัณฑ์แค่ 4 ราย (เวรผลัดเช้า 2 ราย เวรผลัดบ่าย 2 ราย) ที่ได้รับหน้าที่ให้ดูแลผู้ต้องขัง แต่เราจะต้องตรวจสอบให้ครอบคลุมถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทั้งหมด
แต่ ณ ตอนนี้ตนเพิ่งได้รับรายงานการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีรายละเอียดเชิงลึกหลายประเด็น จึงขอเรียนว่ารายงานการสอบสวน ตนจะไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการให้คุณหรือเป็นการชี้ช่องทางต่อผู้ที่มีส่วนกระทำความผิดได้ และคณะกรรมการจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน อาทิ พยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานแวดล้อม พยานบุคคล เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในการขยายความถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกกล่าวหา และบางส่วนอาจจะใช้ในการมัดตัวต่อพฤติการณ์ความผิดที่เจ้าหน้าที่อาจจะเปิดเผยไม่หมดได้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะไม่มีการตัดประเด็นใดที่สังคมเคลือบแคลงใจสงสัยทิ้งไปเด็ดขาด เพราะการสอบสวนในเรื่องของความผิดวินัยร้ายแรงจะเป็นการตรวจสอบรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายใดที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 7 รายที่ให้การช่วยเหลือผู้ต้องขังหรือพบพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ไปติดต่อกับบางผู้ต้องหาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการหลบหนีของผู้ต้องขัง ก็จะมีความผิดในเรื่องของวินัยร้ายแรงและนำไปสู่การไล่ออกจากราชการ
เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้คุมราชทัณฑ์อีก 1 ราย ซึ่งอยู่ในเวรผลัดเช้าของวันเกิดเหตุร่วมกับนายวีระชัย หนูด้วง จึงยังไม่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน นายสหการณ์ เผยว่า ในประเด็นดังกล่าวจะเป็นดุลพินิจและอำนาจการตรวจสอบของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องดูพฤติการณ์ และพิจารณาควบคู่ไปกับพยานหลักฐานจึงจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาในมาตรา 157 เหมือนกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 รายก่อนหน้านี้ แต่ตนได้รับทราบว่าผู้คุมผลัดเช้าทั้ง 2 รายก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณา คือ ผู้คุมราชทัณฑ์รายนี้ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้ไปกระทำสิ่งใดจนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเชื่อได้ว่ามีการปล่อยปละละเลยเหมือนกับเจ้าหน้าที่ 3 รายก่อนหน้าหรือไม่
นายสหการณ์ เผยอีกว่า สำหรับผลการสอบปากคำทั้ง 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเจ้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช จะไม่ได้มีการรายงานมายังราชทัณฑ์แต่อย่างใด เพราะว่าเป็นรายละเอียดในสำนวนคดี เว้นแต่ว่าทางคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบในประเด็นใดแล้วต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม จึงจะประสานขอรายละเอียดบางส่วนไป แต่ก็จะต้องได้รับการพิจารณาจากพนักงานสอบสวนว่าจะสามารถเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดภายในสำนวนได้หรือไม่ และขอยืนยันว่าราชทัณฑ์ยังคงเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด และไม่มีการให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลในองค์กร หากผิดจริงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะการปล่อยให้ผู้ต้องขังรายสำคัญหลบหนีไปได้เช่นนี้ ก็เป็นความผิดอันบกพร่องต่อหน้าที่แล้ว