- 20 พ.ย. 2566
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เตือน เรื่องสำคัญมากครับสำหรับคนไทย อันตรายร้ายแรงของไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่าและการตัดต่อพันธุกรรม
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
อันตรายร้ายแรงของไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่าและการตัดต่อพันธุกรรม (ตอน 1)
• เรื่องสำคัญมากครับสำหรับคนไทย
ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบันมีการสอบสวนและพบว่าหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการให้ทุนมหาศาลผ่านทางองค์กรเอกชน EcoHealth alliance และมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จนกระทั่งถึงสถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่น และหน่วยงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย
และพบเงื่อนงำเบาะแสความเป็นไปได้ที่การตัดต่อพันธุกรรมจากไวรัสค้างคาวเป็นต้นเหตุของโควิด โดยในระยะแรกมีการปกปิดข้อมูลมาตลอดและขณะนี้มีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าอบรมไวรัสสัตว์สู่คนได้ทำการค้นหาไวรัสในค้างคาว ตั้งแต่ปี 2000 และตั้งแต่ปี 2011 ได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯและหน่วยงานของเพนตากอน
ศูนย์ได้ประกาศยุติการทำงานดังกล่าวและแจ้งให้หน่วยงานสหรัฐฯรวมกระทั่งถึงองค์กรระหว่างประเทศทั้งหมดตั้งแต่ปี 2020 ทั้งนี้ เนื่องจากประเมินอันตรายที่ร้ายแรงอันอาจจะเกิดขึ้น ตั้งแต่การลงพื้นที่จนกระทั่งถึงในห้องปฏิบัติการและนำมาสู่การติดเชื้อในมนุษย์และแพร่ไปยังชุมชนจนเป็นโรคระบาดทั่วประเทศ ประกอบกับเงื่อนงำของการเกิดโควิด
อีกประการที่สำคัญก็คือในปี 2018 มีการประชุมจัดโดยองค์กร EcoHealth alliance และให้ศูนย์เป็นหน่วยงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการรวบรวมไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่าโดยเฉพาะไวรัสในตระกูลโควิด ไวรัสในตระกูลอีโบลาและไวรัสในตระกูลไข้หวัดใหญ่และอื่นๆ โดยให้มีการส่งตัวอย่างไปยังต่างประเทศและระบุว่าจะมีการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้เข้ามนุษย์และก่อโรคได้จากหลอดทดลองและสัตว์ทดลองที่ปรับแต่งพันธุกรรมเหมือนมนุษย์ และเป็นที่มาที่ศูนย์ยุติความร่วมมืออย่างสิ้นเชิง
แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดและคณะแพทยศาสตร์ยังคงมิได้ตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ แม้กระทั่งมีการตั้งบุคคลที่มีการเปิดเผยว่ามีส่วนในการร่วมมือตัดต่อพันธุกรรมและกำเนิดโควิดเป็นกรรมการใน school of global health ของคณะแพทยศาสตร์ รวมทั้งมีสถานที่ทำงานและห้องปฏิบัติการในการรวบรวมไวรัสจากค้างคาวอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันในปี 2023
จากการที่ศูนย์ยุติความร่วมมือทั้งหมดและทำลายตัวอย่างจากค้างคาวและสัตว์ป่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ในตัวอย่างย้อนหลังไป 11 ถึง 12 ปี และในวันที่ 7 เมษายน 2022 ได้ทำลายตัวอย่างย้อนหลังไปจนกระทั่งถึงปี 2000 ทำให้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สั่งตั้งกรรมการสอบสวนศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โดยกล่าวหาว่า “ไม่ปฏิบัติงานด้วยความรัดกุมจึงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการบริหารงานและเกิดความเสียหายทั้งในระดับประเทศกับเครือข่ายงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่” โดยให้มีการสอบสวนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023
รายละเอียดลำดับเหตุการณ์และหลักฐานแสดงดังต่อไปนี้
1-บทความในหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ โดยนักข่าวสืบสวน (investigative journalist รางวัลพูลิตเซอร์) คุณ David Willman ในวันที่ 10 เมษายน 2023 เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงาน หลายประเทศรวมทั้งจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โดยมีการสัมภาษณ์บุคลากรทั้งศูนย์ทั้งหมดสามวันตั้งแต่ปลายปี 2022 และหลังจากนั้นมีการยืนยันข้อมูล เอกสารผ่านทางอีเมลตลอดและ WhatsApp และทางศูนย์บรรยายถึงจุดยืนของศูนย์ที่ยุติความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศทั้งหมด และยุติการรวบรวมตัวอย่างจากสัตว์ป่าและค้างคาว
และถือว่าการหาเชื้อในคนและสัตว์ที่มีอาการถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มากกว่าการหาไวรัสที่ไม่รู้จักที่จะมาคาดคะเนว่าจะเข้ามามนุษย์หรือไม่
รวมทั้งมีความเสี่ยงอันตรายสูงสุดในการนำเชื้อจากสัตว์เข้ามามนุษย์ ในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง การขนส่งตัวอย่าง และการปฏิบัติในห้องแล็บ รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับเชื้อไวรัสทั้งๆที่อุปกรณ์ป้องกันตัวไม่ครบถ้วนและในประวัติที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทั้งห้องปฏิบัติการของศูนย์และของหน่วยงานสัตว์ป่าถูกค้างคาวกัด
ข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดถูกตรวจสอบโดยคณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน
2-ก่อนหน้าที่จะทำการตีพิมพ์ ทาง David ได้ทำการติดต่อผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์แล้ว ถึงความเห็นในเรื่องการสืบเสาะหาไวรัสในสัตว์ป่าและค้างคาวโดยที่การศึกษาดังกล่าวถือเป็นการวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงและทราบกันทั่วโลก
3-ประเด็นที่สำคัญในการยุติการทำงานดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อมีการประชุมผ่านซูมกับประธานองค์กร
EcoHealth alliance (Peter Daszak) ในวันที่ 6 มิถุนายน 2019 ทั้งนี้ องค์กรต้องการเสนอรับทุนจาก NIH NIAID ของสหรัฐฯ ซึ่งในการประชุมมีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ ร่วมประชุมอยู่ด้วย
โดยต้องการให้ศูนย์รับผิดชอบจัดตั้ง EID Search (SE Asia research collaboration hub) เพื่อเป็นศูนย์กลางภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ NIAID ที่เรียกว่า CREID (center for Research in EID) โดยมี Lin fa Wang ของสิงค โปร์และ Shengli Shi สถาบันไวรัสอู่ฮั่นร่วมอยู่ด้วย จากการติดต่อครั้งต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคมและวันที่ 16 ตุลาคม 2020
4-ผลของการประชุมในวันดังกล่าวทางศูนย์ยืนยันอย่างชัดเจนว่าตัวอย่างที่เก็บไว้อยู่แล้วนั้นต้องไม่ส่งออกนอกประเทศ
ทั้งนี้ ในเอกสารรายละเอียดของโครงการได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีการนำตัวอย่างจากแหล่งที่เก็บทั้งในประเทศไทย ลาว มาเลเซีย และซาราวัค ไปทำการพัฒนาทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง รวมทั้งการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้เข้าเซลล์มนุษย์และสัตว์ที่ปรับเปลี่ยนตัวรับไวรัสให้เป็นแบบมนุษย์โดยมีเอกสารอ้างอิงว่ามีความสำเร็จในการควบรวมไวรัสในตระกูลโคโรนา chimera จนมีความสามารถเข้าเซลล์มนุษย์และสัตว์ทดลองจนก่อโรคได้ โดยทำที่สถาบันทั้งสหรัฐฯ ในสิงคโปร์ และสถาบันไวรัสอู่ฮั่น
โครงการนี้เพ่งเล็งไวรัสที่อยู่ในตระกูลโคโรนา Filovirus ตระกูลไข้เลือดออก อีโบลาและมาบวกค์ และ paramy xovirus ตลอดจนไวรัสนิปาห์ เฮนดร้า ที่จะทำการตัดต่อพันธุกรรม
ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่ร่วมมือด้วย
5-และทางศูนย์ไม่รับข้อเสนอของทางสิงคโปร์ที่จะให้นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ไปทำปริญญาเอกต่อโดยนำไวรัสจากค้างคาวตระกูลโคโรนาไปด้วยเพื่อไปศึกษาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มนุษย์ได้ดีขึ้น
6-โครงการนี้จากการประชุม ทาง Eco Health alliance ไม่ได้ให้ความสนใจในการหาโรคในมนุษย์ ทั้งนี้โดยจะทำเป็นโครงการนำร่องเล็กๆด้วยการทำแบบสอบถามและการตรวจน้ำเหลืองในมนุษย์ ในพื้นที่ อย่างเดียว และทางศูนย์ไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากโครงการดังกล่าวในการประชุมวันที่ 19 สิงหาคม 2020...
โดยสรุปศูนย์ยุติโครงการหาไวรัสจากสัตว์ป่าและค้างคาวโดยสิ้นเชิง
นอกจากนั้นในเดือนเมษายน 2022 ทางศูนย์ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯและจาก Los Alamos ถึงท่าทีในการจะทำงานสัตว์ป่าหรือไม่ ซึ่งเราได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่ร่วมด้วยและถือว่าโรคในคนเป็นจุดสำคัญที่สุดซึ่งจะช่วยชีวิตมนุษย์ได้และการได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุดนั้นจะสามารถพิจารณาได้ว่ามีโรคอุบัติใหม่เข้ามาในมนุษย์หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการค้นหาแหล่งรังโรค ถือเป็นระดับต่อมาเพื่อให้รู้ถึงตัวนำโรค
ประกอบกับคำอธิบายดังกล่าวนั้นเราได้แสดงว่า หลายสิบปีที่เก็บรวบรวมไวรัสจากสัตว์ป่านั้นไม่ได้นำมาถึงการคาดคะเนหรือพยากรณ์ว่าไวรัสตัวไหนจะทำให้เกิดโรคระบาดทั้งๆที่โครงการที่ทำอย่างต่อเนื่องค้นพบไวรัสที่ไม่ทราบชื่อมากกว่า 1,000 ชนิด
7-ทั้งศูนย์ได้ประกาศแจ้งชัดในจุดยืนต่อองค์กรระหว่างประเทศ ทั้ง CDC USAID GOARN และ US Thai CDC collaboration ทั้งนี้ยังได้แสดงจุดยืนใน GOARN survey ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2021 (เป็น survey สำหรับ 2021-2023) ถึงการที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและปฏิบัติ (paradigm shift) ในโรคอุบัติใหม่ และวิธีการที่จะถนอมทุนทรัพย์เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยยุติการหาไวรัสจากสัตว์ป่าและค้างคาวซึ่งไม่คุ้มค่าและอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างสูง และการประชุมผ่านซูมขององค์การอนามัยโลกเจนีวาในวันที่ 8 ธันวาคม 2021
การประชุมร่วมขององค์การอนามัยโลกและองค์การอนามัยสัตว์โลก ที่กรุงปารีสเดือนธันวาคม 2022 ในเรื่องเกี่ยวกับไวรัสสัตว์สู่คนซึ่งนายแพทย์ธีระวัฒน์ได้รับเชิญให้ไปบรรยาย ยังได้แสดงจุดยืนของศูนย์ในเรื่องยุติการค้นหาไวรัสที่ไม่ทราบชื่อในสัตว์...
การประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ทางศูนย์ได้รับเชิญจากเลขาธิการสภาความมั่นคง ในเดือนมีนาคม 2023 ในเรื่องการรับมือโรคอุบัติใหม่ ทางศูนย์ได้บรรยายถึงเหตุผลที่ต้องยุติการค้นหาไวรัสที่ไม่ทราบชื่อจากสัตว์ป่าและค้างคาวด้วย
ทางศูนย์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายการประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2023 จัดโดยกรมควบคุมโรคและได้ย้ำถึงอันตรายที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้างคาวจากการเสาะหาไวรัสที่ไม่รู้ชื่อ