- 03 ธ.ค. 2566
แห่ส่งกำลังใจ อาจารย์ป.เอก ป่วยจิตเวช ต้องลาออก ซ้ำมหาลัยดังฟ้องเรียกทุนคืน 10 ล้าน ช่วงหนึ่งของชีวิตต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2566 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าเรื่องราวของนักเรียนทุน ป.เอก รายหนึ่ง ซึ่งกลับมาทำงานใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยในไทย แต่เกิดอาการป่วยจิตเวชกำเริบ ทำให้ผู้บริหารขอให้ลาออก และฟ้องค่าชดเชยทุนที่ยังใช้ไม่หมด โดยระบุข้อความว่า
"ดร.เค็ง ซึ่งเกิดในครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้อง 9 คน เธอเป็นคนที่ 8 ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจนในวัยเด็ก พี่ๆต้องทำงานส่งเสียเธอเรียน และเธอเป็นคนเดียวในบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก ด้วยทุนกระทรวงวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ขณะที่ ดร.เค็งเรียน ป.เอก อยู่ที่อังกฤษอยู่นั้น เธอป่วยด้วยโรคจิตเวช เข้าสู่กระบวนการรักษาใน รพ. แต่โชคดีที่ระบบการดูแลของมหาวิทยาลัยที่นั่นดีมากจนอาการกลับมาดีและเรียนจนจบ ป.เอก สามารถกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่เมื่อทำงานเป็นอาจารย์ได้อีกสักระยะหนึ่ง อาการป่วยของกำเริบ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้บริหารขอให้ลาออก ด้วยสภาวะการเจ็บไข้ ทำให้ ดร.เค็งเขียนข้อความลาออกทางอีเมล์ ในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน และมหาวิทยาลัยก็ฟ้องเรียกเงินชดเชยทุนที่ส่งไปเรียนนับสิบล้านบาท
ดร.เค็ง ไม่รู้เลยว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยุ่งยากถึงขนาดนี้ เธอเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิมๆ อยู่เป็นปี ดร.เค็งป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ กว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องจนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุนได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
ดร.เค็งต่อสู้คดีโดยลำพังในศาลปกครอง โดยสู้ว่าไม่ได้หนีทุน แต่เพราะป่วยซึ่งมิใช่การกระทำของตนเอง ซึ่งในระเบียบของกระทรวงวิทย์ฯ มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ แต่มหาวิทยาลัยสู้ในประเด็นว่า ดร.เค็งลาออกและไม่ทำงานใช้ทุน ศาลรับพิจารณากรณีเพียงได้ใช้ทุนหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าป่วยหรือไม่ป่วย ทำให้แพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
คนที่เคยเป็นความหวังของครอบครัวกลับกลายอยู่ในสภาพที่ถูกฟ้องร้องด้วยเงินนับสิบล้านบาท แม้พยายามขอกลับเข้าไปทำงานเพื่อยุติข้อพิพาทก็ไม่ได้รับโอกาส จนเมื่อวันที่ 1 ธค 66 ดร.เค็งได้กลับไปทำงานให้กับมูลนิธิฯแห่งหนึ่ง อยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ เป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบ 10 ปี และเธอมีความสุขมาก แม้หัวหน้างานจะบอกว่างานวิจัยของเธอนั้นทำงานที่บ้านได้ แต่ ดร.เค็งอยากออกมาเจอผู้คนและกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง"
ทั้งนี้ บก.ลายจุด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "รากปัญหาหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในกรณีแบบนี้คือ แรงบีบคั้นจากการศึกษาแม้เธอจะเรียนจนจบแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับการออกไปใช้ชีวิตลำพังในต่างประเทศและเรียนหนังสืออย่างหนัก และไม่ใช่ทุกคนรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้"
"ผมเคยร่วมแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายใน Clubhouse ที่นำประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อเลยทีเดียว ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการป่วยเป็นโรคจิตเวช ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าเรียนจนเป็นบ้า มันมีที่มาจริงๆ และเป็นเรื่องที่ควรทำให้เกิดความรู้และมีระบบในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้" บก.ลายจุดกล่าว
ขอบคุณ FB : สมบัติ บุญงามอนงค์