- 15 ธ.ค. 2566
เนื่องใน “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ขอเชิญชวนชาวไทยตระหนักถึงภัยร้ายของโรคมะเร็ง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2511 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ”
โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2561 พบมีผู้ป่วยรายใหม่ 139,206 คน เป็นเพศชาย จำนวน 67,061 คน เพศหญิง 72,145 คน และในปี 2564 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึง 83,795 คน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร ทำให้ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งและลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนมะเร็งครบวงจร โดยจัดตั้งทีม Cancer Warrior หรือ CA Warrior
ต่อสู้กับโรคมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด คือ
- มะเร็งตับ
- มะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
ประกอบไปด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการดูแลมะเร็งแบบครบวงจรทั่วทั้งประเทศ
ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง แพทย์หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเวลากว่า 55 ปี ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศและภาคีเครีอข่าย มุ่งมั่นต่อสู้ร่วมกับผู้ป่วยเพื่อเอาชนะโรคร้าย จากการดำเนินงานตามนโยบาย Cancer Anywhere ที่ผ่านมาช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงบริการตรวจรักษาในทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้อย่างสะดวก นำมาสู่นโยบาย Cancer Warrior เพื่อขับเคลื่อนมะเร็งอย่างครบวงจร ในมะเร็งสำคัญ 5 ชนิดของประเทศไทย ได้มีการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับเพื่อส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจอย่างครบวงจร ดูแลตั้งแต่ยังไม่ป่วยจนถึงเมื่อป่วย ให้ได้รับการรักษาเหมาะสม ช่วยลดการเจ็บป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
แม้หลายท่านกังวลว่าตนเองหรือครอบครัวอาจเป็นผู้ประสบโชคร้ายเมื่อดูจากสถิติที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ความเป็นจริงเราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และไม่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกายจากสัญญาณเตือน 7 ประการ ได้แก่ ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เป็นแผลเรื้อรัง ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลืนกินอาหารลำบาก ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดเปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบเรื้อรัง จะช่วยให้รู้ตัวและสามารถพบแพทย์ได้เร็วส่งผลให้การรักษาได้ผลดี นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าโรคมะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง การค้นพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายจากโรคสูง
5 อันดับ มะเร็ง ที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่
- เพศชาย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- เพศหญิง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งปากมดลูก