- 21 ธ.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เผยชัด "ยาพาราเซตามอล" เอามาช่วยแก้ปัญหา "เตารีดไหม้" ทำได้จริง
ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ
อันนี้เรื่องเก่าแล้ว แต่มีคนถามมาอีกครั้ง สรุปคือ "ยาพาราเซตามอล" เอามาช่วยแก้ปัญหา "เตารีดไหม้" ให้สะอาดขึ้นได้จริงๆ ครับ เนื่องจากมีสารเคมีที่ช่วยทำให้คราบไหม้ละลายง่ายขึ้น และสารที่ช่วยในการขัดสีขจัดคราบได้ ..
แต่โดยส่วนตัว ผมก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ใช้วิธี DIY แม่บ้านบอกกันมา อะไรทำนองนี้นะครับ แนะนำให้ทำตามคู่มือการใช้งานดีกว่า
ดูข่าวด้านล่างนี้ ที่ผมเคยให้สัมภาษณ์อธิบายไว้ครับ
(รายงานข่าว) แชร์เทคนิค “น้องเตารีดป่วย” ใช้ “ยาพารา” รักษาได้พร้อมเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นเทคนิค DIY หรือการซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน เพื่อให้กลับมาใช้งานได้โดยไม่ต้องไปหาซื้อใหม่ เช่นเดียวกับ “เตารีด” ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาพอใช้งานไปแล้วเกิดความผิดพลาด จนทำให้เตารีดไหม้ขึ้นมา แล้วคราบไหม้เหล่านี้ มันก็มักจะติดแน่นจนเอาออกยากมาก ยากแบบที่ว่าเอาฝอยขัดหม้อมาขัดก็ยังแทบจะไม่ออกเลย จะเอาน้ำล้างก็ไม่ได้อีก
แต่วันนี้ ในบ้าน จะมาแชร์อีกหนึ่งเทคนิคซึ่งหลายคนรีวิวกันแล้วว่าได้ผลจริงๆ ด้วย นั่นก็คือการใช้ยาสารพัดประโยชน์อย่าง “พาราเซตามอล”
คุณน้อง’ พีช ได้มาโพสต์ลงในกลุ่มงานบ้านที่รัก โดยบอกว่าหลังจากสิงในกลุ่มมานาน ได้อ่านเคล็ดลับการรักษาเตารีดที่ไหม้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้ใช้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งลองนำเทคนิคไปใช้กับเตารีดที่ไหม้ ปรากฏว่ายาพารา สามารถขจัดคราบออกได้!?
เทคนิคในการขจัดคราบก็คือ… ระหว่างที่เตารีดยังร้อนอยู่ ให้เอายาพาราเซตามอลไปถูให้ละลาย ถ้าเป็นรอยเยอะ ก็จะใช้หลายเม็ดหน่อย
พอละลายแล้ว แค่เอาพวกทิชชูแผ่นหนาๆ เช็ด ก็จะออกไปได้อย่างง่ายดาย เหมือนไม่เคยมีคราบมาก่อน
แต่หลายคนสงสัยว่า.. มันขจัดคราบได้จริงเหรอ? เรื่องนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับด้วยนะ
โดยทาง รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาอธิบายสาเหตุที่ยาพาราสามารถขจัดคราบได้
สารเคมีของยาพาราเซตามอล หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) มีจุดหลอมเหลว 170 องศาเซลเซียส ขณะที่เตารีดทำให้ผ้าร้อนได้ถึงประมาณ 180-220 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ยาละลายได้อย่างแน่นอน ทีนี้ เมื่อยาสลายตัวก็เกิดเป็นสารตัวใหม่ได้ เช่น พาราอามิโนฟีนอล ( para-aminophenol) ซึ่งคาดว่าช่วยทำละลายคราบสกปรกบนแผ่นโลหะเตารีดได้ และมีสารผสมอื่นในเม็ดยา คือ ซิลิก้อนไดออกไซด์ หรือซิลิก้า ซึ่งมีสามารถช่วยขัดสีและขจัดคราบได้
และไม่ใช่แค่ยาพาราเท่านั้น แต่สารในยาสีฟัน ก็สามารถใช้ช่วยขจัดคราบได้ด้วยเช่นกันนะ สำหรับใครที่ไม่มียาพารา ก็ใช้สูตรนี้กับยาสีฟันผู้ใหญ่แทนได้ด้วย
หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคน ถ้าลองเอาไปใช้แล้วได้ผล ก็มาคอมเมนต์บอกผลงานอวดกันได้เลยนะ!!