- 27 ธ.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เปิดข้อมูลในประเด็น แสงประหลาดโผล่ที่จังหวัดนครพนม
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความไขข้อข้องใจ ในประเด็น แสงประหลาดโผล่ที่จังหวัดนครพนม ระบุว่า
"แสงประหลาดตามคลิปนี้ น่าจะเป็นแค่แสงจากการยิงจรวดครับ"
เมื่อเช้า นักข่าวส่งคลิปวิดีโอนี้มาถามครับ จากเฟซบุ้คเพจ "ยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6" .. ซึ่งมีแคปชั่นประกอบว่า "พี่น้องครับมันคืออะไรครับ...หรือจะเป็นซานต้าเพิ่งกลับจากการแจกของขวัญหรือ มาเวอริคหาบินทดสอบที่ไทย..ขอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย เห็นกับตาตัวเอง ตี5.43 นาที ช่วยกันแชร์ ครับ ไม่รู้แสงอะไร" !? (ดูคลิก)
ในคลิปก็มีเสียงบรรยายด้วยว่า ถ่ายจากบ้านพนอม (น่าจะหมายถึง บ้านพนอม ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม) เวลาประมาณตีห้า อยู่ริมฝั่งโขง ขึ้นไปเป็นลำแสงสีส้ม จากริมฝั่งโขง ฝั่งประเทศลาว แล้วแสงก็กระจายหายไป
ซึ่งในเพจนั้น ก็มีคนมาคอมเม้นต์ไปต่างๆ นานา เช่น เป็นไอพ่นหลังเครื่องบิน เป็นแสงยูเอฟโอ เป็นยานมนุษย์ต่างดาว พลังคลื่นเต่า ซานตาคลอสบินกลับบ้าน ฯลฯ
ถ้าดูจากลักษณะของการเคลื่อนที่ แนวลำแสง แต่ละช่วงๆ จะพบว่า มันคล้ายกับ "การส่งจรวด" มากที่สุดครับ โดยจะเป็นจรวดแบบมีเชื้อเพลิงขับดันหลายท่อน เห็นการแยกตัวของท่อนบนออกจากท่อนล่าง แล้วท่อนบนก็เกิดการจุดระเบิดพุ่งตัวออกไป
คลิปดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่เท่าไหร่กันแน่ เป็นคลิปใหม่หรือคลิปเก่า(เอามาโพสต์กันใหม่) ก็ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าดูข่าวช่วงนี้ จะพบว่าทางประเทศจีนมีการยิงจรวดส่งดาวเทียมพยากรณ์อากาศ ดวงใหม่ เหมือนวันที่ี 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานี้เอง พาดหัวข่าวว่า "จีนส่งดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงใหม่จำนวน 4 ดวง โดยใช้จรวดขนส่ง "ไคว่โจว-1เอ" Kuaizhou-1A) ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ"
สำนักข่าว "ซีซีทีวี" ของจีนรายงานว่า จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมพยากรณ์ชุดใหม่ 4 ดวง ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่ง "ไคว่โจว-1เอ" (Kuaizhou-1A) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียม "จิ่วเฉวียน" (Jiuquan) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในวันนี้ เวลา 09.00 น. ตามเวลาในกรุงปักกิ่ง ของจีน โดยดาวเทียม 4 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมหมายเลข 11-14 ของกลุ่มดาวเทียมพยากรณ์อากาศ "เทียนมู่-1" ได้เข้าสู่วงโคจรตามแผนแล้ว ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของภารกิจครั้งนี้ ซึ่งทางการจีน จะใช้ดาวเทียมพยากรณ์อากาศนี้ เพื่อให้บริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก และนับเป็นภารกิจการบินครั้งที่ 23 ของจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ จรวดขนส่งดาวเทียม "ไคว่โจว-1 เอ" เป็นจรวดขนส่งเชื้อเพลิงแข็งขนาดเล็ก ที่พัฒนาโดยองค์การจีนอวกาศเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอร์ปอเรชัน (CASC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักสำหรับโครงการอวกาศจีน
ซึ่งจะเห็นว่า จุดที่ยังแตกต่างจากคลิปที่แชร์กันนั้น คือช่วงเวลาที่ส่งจรวดขึ้นไป ประมาณ 9 โมงเช้าที่ประเทศจีน ก็คือประมาณ 8 โมงเช้าที่ประเทศไทย ? ไม่ใช่ช่วงตี 5 หรือ 6 โมงเช้าแบบในคลิประบุ
ก็คงจะต้องรอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร. หรือ NARIT) หรือ สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบว่ามีการยิงปล่อยจรวดขึ้นไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ในทิศทางนี้หรือไม่ ?
ในอดีต เมื่อปีก่อน ก็เคยมีข่าวทำนองคล้ายคลึงกันนี้ เรื่องของการเห็นแสงประหลาดบนท้องฟ้า แถวประเทศเมียนมาร์ ซึ่งสุดท้ายพบว่า เป็นการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ของประเทศอินเดีย ซึ่งมีแสงคล้ายคลึงกับสิ่งที่เห็นนี้ด้วย อ่านรายละเอียดได้ด้านล่างนี้ครับ
(แต่ช่วงนี้ ไม่มีข่าวการทดสอบจรวดของอินเดียนะครับ และคลิปดังกล่าวระบุว่ามาจากฝั่งไทย-ลาว ... ดังนั้น ก็ไม่น่าใช่จรวดของอินเดีย)
(อัพเดตเพิ่มเติม : สรุปว่าน่าจะเป็น จรวดลองมาร์ช 11 ของประเทศจีน ส่งดาวเทียม Shiyan-24C1 เมื่อเวลา 05:39 น. ของวันที่ 26 ธ.ค. 2566 มีวิถีเหนือทะเลจีนใต้ แต่น่าจะสูงพอให้สังเกตเห็นได้จากภาคอีสานของไทย)