- 01 ม.ค. 2567
อย. ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กวาดล้างเครือข่ายผลิตและจำหน่าย อาหารเสริมลดความอ้วนผสมไซบูทรามีน 2 ยี่ห้อดัง มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท
วันที่ 1 ม.ค. 67 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กวาดล้างเครือข่ายผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมลดความอ้วนผสมไซบูทรามีน 2 ยี่ห้อดัง ตรวจยึดของกลาง 36 รายการ มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับลดน้ำหนักบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน จำนวน 2 ยี่ห้อ รายละเอียดดังนี้
1. เครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ เอส เอส (SS) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียน ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน บก.ปคบ. cppd 1135
ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เอส เอส (SS) ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊คชื่อ เกด เกด เกวรีณฐ์ เนื่องจากมีประชาชน รับประทานแล้วเกิดอาการใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ จึงทำการตรวจสอบพบว่า ยังมีการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Lazada และ Shopee
2. เครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme) ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ ณัฐรินทร์ ธนาธนัตถ์กิตติ์ (https://www.facebook.com/mookls ) ซึ่งประชาชนผู้ร้องเรียนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานแล้วเกิดอาการปวดหัว เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเรง
ก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียน ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน บก.ปคบ. cppd 1135 ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เอส เอส (SS) ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊คชื่อ “เกด เกด เกวรีณฐ์” เนื่องจากมีประชาชน รับประทานแล้วเกิดอาการใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ จึงทำการตรวจสอบพบว่า ยังมีการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Lazada และ Shopee
เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อสั่งซื้อและนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ และกระจายสินค้า จากที่ตั้งสำนักงานซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มเครือข่ายผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำนวน 3 ราย ในข้อหา “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” และตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุดดังนี้
1.1.) บริษัทผู้จัดจำหน่าย(เจ้าของผลิตภัณฑ์) ในพื้นที่ ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดพิษณุโลก เข้าทำการตรวจค้น พร้อมจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นกรรมการบริษัททั้ง 3 ราย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เอส เอส (SS) จำนวนหนึ่ง และกล่องเปล่าซึ่งคาดว่าเตรียมส่งให้โรงงานผลิตจำนวนกว่า 1,000 กล่อง
1.2.) โดยนอกเหนือจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายแล้ว ยังได้ทำการสืบสวนขยายผลไปยังโรงงานผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และได้นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้นโรงงานดังกล่าว ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อเอส เอส(SS) จำนวน 700 กล่อง (7,000 แคปซูล), แคปซูลบรรจุแผง 2,940 แผง (29,400 แคปซูล), กล่องเปล่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร SS จำนวน 1,900 กล่อง, ผงซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหนัก 25 กิโลกรัม กาแฟฉลากระบุช่วยลดน้ำหนัก 2,700 ซอง, บรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ รวมของกลาง 13 รายการ มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท
จากการสืบสวนเพิ่มเติมทราบว่า โรงงาน มีการสั่งวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิต มาจากอำเภอหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินแจ้งข้อกล่าวหา และขยายผลจับกุมกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดต่อไป
2. เครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4
บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme) ซึ่งประชาชนผู้ร้องเรียนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานแล้วเกิดอาการปวดหัว เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเรง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่าย และส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ทำการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบสถานที่ผลิต บริษัทผู้จัดจำหน่าย และตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุดดังนี้
2.1.) สถานที่ผลิต บริษัท ลา พรีม ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน จำนวน 51 กล่อง, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่นๆที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 130 กล่อง, ผงสารตั้งต้นซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต น้ำหนัก 11 กิโลกรัม และ แคปซูลเปล่า จำนวน 1,000 แคปซูล รวม 15 รายการ
2.2.) บริษัทผู้จัดจำหน่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรฟฟิตมี ต.หนองเพรางาย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง (ระบุส่วนประกอบไม่ตรงกับที่ขออนุญาตผลิต) จำนวน 10,305 กล่อง, ผลิตภัณฑ์สบู่และเครื่องสำอางที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 23,673 ชิ้น รวม 8 รายการ
รวมของกลางทั้งสิ้น 23 รายการมูลค่ากว่า 4,000,000 บาท
รวมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน จำนวน 2 ยี่ห้อ ตรวจค้น 4 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 ราย ได้แก่
1. นาง เกวรีณฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี
2.นาย กัลปพฤกษ์(สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี
3. นาย เสาร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 71 ปี ดำเนินคดีข้อหา “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” ตรวจยึดของกลางเป็น
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบรรจุกล่อง(ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน) จำนวน 751 กล่อง,
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง(ระบุส่วนประกอบไม่ตรงกับที่ขออนุญาตผลิต) จำนวน 10,305 กล่อง,
3. แคปซูลบรรจุแผง 2,940 แผง (29,400 แคปซูล),
4. ผงสารตั้งต้นที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 36 กิโลกรัม,
5. สบู่ และเครื่องสำอางที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 23,673 ชิ้น,
6. แคปซูลเปล่า ฉลากและบรรจุภัณฑ์กว่า 3,900 ชิ้น รวมของกลาง 36 รายการ มูลค่ากว่า 7,000,000 บาท
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในเสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป