- 13 ม.ค. 2567
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เตือน กินปลาปักเป้าน้ำจืด เสี่ยงเจอพิษ ไม่ใช่เฉพาะปักเป้าทะเล
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความเตือน
"กินปลาปักเป้าน้ำจืด ก็เสี่ยงจะเจอพิษนะครับ ไม่ใช่เฉพาะปักเป้าทะเล"
วันนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอ ของเพจเฟซบุ้คด้านการพาเที่ยว พาไปกินอาหาร โดยเป็นคลิปของชาวบ้านมาปิ้งกิน "ปลาปักเป้าแม่น้ำโขง" โดยระบุว่า เปิปของดีเมืองท่าแขก ซึ่งก็น่าจะหมายถึงที่แขวงคำม่วน ประเทศลาว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ของไทย
ซึ่งทำเอาหลายคนที่มาดูคลิป สงสัยว่าจะไม่เป็นอันตรายจากพิษปลาปักเป้าที่กินเข้าไปหรือเปล่า ? ขณะที่บางคนก็บอกว่า ปลาปักเป้าน้ำจืด กินได้ ไม่มีพิษ ?
คำตอบคือ ปลาปักเป้าน้ำจืด ก็คล้ายกับปลาปักเป้าทะเล และสัตว์น้ำอีกหลายชนิด (เช่น แมงดาทะเลหางกลม , หมึกสายวงน้ำเงิน ฯลฯ) ที่จริงๆ แล้ว พวกมันไม่ได้สร้างสารพิษในตัวเอง แต่มันสามารถสะสมเชื้อแบคทีเรีย หรือแพลงค์ตอนสาหร่าย ที่สร้างสารพิษร้ายแรง ไว้ในตัวเองได้โดยที่มันไม่เป็นอันตราย จึงนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษเช่นกัน
ที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่าปลาปักเป้าน้ำจืดจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษครับ แต่ชนิดที่มีพิษนั้นมีอยู่หลายชนิดมากครับ เคยมีข่าวคนเสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้าน้ำจืดมาแล้ว ... ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตราย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ !
#พิษจากปลาปักเป้า
“ปลาปักเป้า” ในประเทศไทย สามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและทะเล มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของปลาปักเป้าพบได้ทุกส่วนของตัวปลา ซึ่งพบมากที่บริเวณไข่ ตับ เครื่องใน และหนัง โดยสามารถแยกประเภทของพิษตามชนิดของปลาปักเป้าได้ดังนี้
1. "ปลาปักเป้าทะเล" มีพิษที่เรียกว่า “เทโทรโดท็อกซิน” (tetrodotoxin) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการลิ้นชา อาเจียน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง เดินเซ ขยับเขยื้อนไม่ได้ หายใจลำบาก ซึ่งหากมีอาการแพ้มากและรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการมักเกิดอย่างรวดเร็วหลังรับประทานภายใน 5 - 20 นาที หรืออาจนานถึง 2 - 3 ชั่วโมง
2. "ปลาปักเป้าน้ำจืด" มีพิษที่จัดอยู่ในกลุ่ม PSP (Paralytic Shellfish Poison) เมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกาย พิษจะเข้าไปขัดขวางเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ จึงเกิดการยับยั้งการส่งกระแสประสาทและการส่งสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชา และเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และที่เป็นอันตรายที่สุดคือ การเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ ซึ่งส่งผลให้หายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้