แถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 ภาวะลองโควิด และ ผลกระทบจากวัคซีน

หมอธีระวัฒน์-อ.ปานเทพ ออกแถลงการณ์ร่วม (ฉบับที่ 2) แจ้งความคืบหน้าภาวะลองโควิดและผลกระทบจากวัคซีน ใครมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาหรือเยียวยา

"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุเนื้อหาดังนี้

จากการที่ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือกันทางด้านวิชาการและการวิจัย ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรกในเรื่องต่อสถานการณ์อาการลองโควิด (Long Covid-19) และผลกระทบจากวัคซีนไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 [1]-[2] ได้มีมติให้แถลงต่อประชาชนเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

แถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 ภาวะลองโควิด และ ผลกระทบจากวัคซีน

ประการแรก การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องจริง รายงานจากทั่วโลกมีการบิดเบือนความจริงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ภายหลังจากการที่เราได้เปิดรับข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิด (Long Covid-19) หรือผลกระทบจากวัคซีนโควิด ปรากฏว่ามีประชาชนได้ทยอยเข้ามารายงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง การเสียชีวิต เจ็บป่วย สุขภาพอ่อนแอลง หรือมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนที่เชื่อว่าได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิดหรือผลกระทบจากวัคซีนโควิดที่ไม่อยู่ในการบันทึกจากภาครัฐนั้น เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น

ในขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ประชาชนโดยทั่วไปว่า มีการเซ็นเซอร์ข้อมูล มีdkiปิดบัญชีในโซเชียลมีเดียและยูทูปในการกล่าวถึงผลกระทบของวัคซีน โดยนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คได้เคยยอมรับเมื่อปี 2566 ว่าผู้มีอำนาจได้เซ็นเซอร์ข้อมูลหลายอย่าง ทั้งสิ่งที่สามารถโต้เถียงได้ (debatable) หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่เป็นความจริงก็ตาม[3]

นอกจากนั้นยังมีคดีการฟ้องร้องและศาลยุติธรรมเพิ่งจะได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ให้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยคำร้องเรียนจากประชาชนเรื่องผลกระทบของวัคซีนต่อตนเองกว่า 7.8 ล้านคำขอ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป[4] แสดงให้เห็นว่าความพยายามปกปิดข้อมูลในเรื่องผลกระทบของวัคซีนในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นเรื่องจริง

ประการที่สอง ข้อสงสัยคนไทยตายมากขึ้นเจ็บป่วยมากขึ้นจากวัคซีนและลองโควิด ความจริงใจในการเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา

โดยภายหลังการฉีดวัคซีนในปี 2564 อัตราการเสียชีวิตของประชาชนชาวไทยสูงขึ้นอย่างผิดปกติ (excess deaths) ทั้งๆที่ได้ผ่านพ้นช่วงโรคระบาดหนักไปแล้ว ดังปรากฏข้อมูลในปี 2565 พบว่าคนไทยเสียชีวิต 590,174 ราย และ ปี 2566 คนไทยเสียชีวิต 576,516 รายมากกว่า ช่วงการเกิดโรคระบาดและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในปี 2564 ที่คนไทยมีการเสียชีวิต 548,174 ราย และมากกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 ที่คนไทยมีการเสียชีวิตเพียง 497,339 ราย[5]

โดยหากยึดเอาความเป็นมืออาชีพในทางวิชาการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้อยู่เหนือผลประโยชน์ของวัคซีนแล้ว ภาครัฐควรแสดงความจริงใจด้วยการตั้งองค์กรกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องวัคซีน ทำการวิจัยย้อนหลังหาความสัมพันธ์ของการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของคนไทยในแต่ละโรคที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีนแต่ละชนิดว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร หรือทำการสืบสวนโรคหรือชันสูตรศพเพื่อวิจัยจากปัจจุบันไปข้างหน้าให้ได้ข้อเท็จจริง

ทั้งนี้เพราะมีตัวอย่างมาแล้วที่คณะวิจัยในสหรัฐอเมริการ่วมกับแคนนาดาที่ได้ร่วมกันชันสูตรศพผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิดพบว่าร้อยละ 73.9 เกี่ยวข้องกับวัคซีน และผลการศึกษาในยุโรป 31 ประเทศ พบว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดมากในปี 2564 จะมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับประเทศไทย และประเมินว่าการตายจากวัคซีนที่รายงานเข้าในระบบ (Vaccine Adverse Event Reporting System) VAERS ของสหรัฐอเมริกานั้น ต่ำกว่าความจริงกว่า 20 เท่าตัว[6]

ดังนั้นการยึดมั่นศรัทธาตัวเลขข้อมูลจากต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง

ประการที่สาม ผู้ได้รับผลกระทบจากลองโควิดและผลกระทบของวัคซีนในประเทศไทยเป็นเรื่องจริง และมีมากกว่าที่ออกแถลงการณ์โดยกรมควบคุมโรค

ทั้งนี้ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่ามีกรณีผู้เสียชีวิตเพียง 5 รายเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นอุบัติการณ์เสียชีวิตที่ต่ำกว่าหนึ่งในล้านโดส[7] แต่ข้อมูลที่อ้างนั้นน่าจะน้อยกว่าความจริงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบจากเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้รายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนในกลุ่มเฉพาะผู้ที่ใช้สิทธิยื่นคำร้องและผ่านเกณฑ์ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2567 พบว่า

มีประชาชนชาวไทยยื่นคำร้องว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 23,082 ราย ผ่านเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งสิ้น 19,328 ราย โดยแบ่งเป็นการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากวัคซีนจำนวน 5,482 ราย พิการหรือสูญเสียอวัยวะจำนวน 815 ราย และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 13,031 ราย และใช้งบประมาณช่วยเหลือไปแล้วทั้งหมด 2,560 ล้านบาท[8]

เมื่อพิจารณาจำนวนคำร้องแยกตามอาการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีสัดส่วนคำร้องการเสียชีวิตร้อยละ 24.3 ปวดเวียนศีรษะหน้ามืดร้อยละ 19.42 แขนขาอ่อนแรงร้อยละ 17.94 แน่นหน้าอกหายใจลำบากร้อยละ 12.86 มีอาการชาร้อยละ 12.23 มีอาการผื่นคันบวมร้อยละ 11.49 มีอาการไข้ร้อยละ 10.22 ปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนร้อยละ 10.4 และอาการช็อกจากการแพ้รุนแรงร้อยละ 0.88[8]

แต่จำนวนคำร้องที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้นอาจไม่ครอบคลุมประชากรที่ได้รับผลกระทบของวัคซีนจริงทั้งหมด ด้วยเพราะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อาการและสิทธิในการได้รับการเยียวยามีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน

ในขณะเดียวกันโรคที่ได้รับการอนุมัติตามเกณฑ์ระบุนั้นก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุมที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลตามรายงานและผลการศึกษาจากต่างประเทศในวารสารทางการแพทย์จำนวนมาก ดังเช่น

ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ระบบที่เสียหายและเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดจนถึงเสียชีวิตนั้น ประกอบไปด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางโลหิตวิทยา ระบบทางเดินหายใจ และมีหลายระบบเสียหายร่วมกัน[6] อีกทั้งการฉีดวัคซีนที่มากเกินไปหรือถี่เกินไปอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้[9]-[11] และยังรวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจอักเสบ หรือภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย[12]-[13]

นอกจากนั้นยังพบการตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ Asian Journal of Psychiatry เมื่อปี 2565 ซึ่งได้รายงา่นถึงผลกระทบของวัคซีนที่อาจทำให้เกิดโรคทางจิตหรือระบบประสาทซึ่งรวมถึง สภาพจิตที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้เป็นโรคจิต วิกลจริตคลุ้มคลั่ง โรคซึมเศร้า และระบบการทำงานของประสาทผิดปกติ[14]

นอกจากนั้นการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ BMJ Open วิเคราะห์อภิมานจากผลการศึกษาวิจัย 7 ชิ้นเมื่อปี 2566 พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA เพียง 1 เข็มขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน mRNA เลย[15]

คณะนักวิจัยชาวจีนที่แม้จะสนับสนุนวัคซีนแต่เผยแพร่ในงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง Autoimmunity Reviews เมื่อปี 2566 พบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือแพ้ภูมิตัวเองอันมีสาเหตุจากวัคซีน ซึ่งรวมถึง ภาวะไตอักเสบ โรคไขข้ออักเสบ โรคตับอักเสบ[16] นอกจากนั้นยังมีกรณีศึกษาจากประสบการณ์ตรงของเราว่ามีเด็กและเยาวชนในประเทศไทยเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอันเป็นผลมาจากวัคซีนด้วย[2]

อีกทั้งยังพบการรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Cureus เมื่อปี 2566 ถึงกรณีศึกษาของผู้ป่วยมะเร็งชนิดซาร์โคมาพบความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนทันทีหลังฉีดวัคซีนของโมเดิร์นนา[17]

แถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 ภาวะลองโควิด และ ผลกระทบจากวัคซีน

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนอาจจะเป็นผลโดยตรงหรือกระตุ้นทำให้เกิดโรคอื่นๆได้ตามมามากกว่าอาการตามเกณฑ์ที่อนุมัติเพื่อเยียวยาโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอาจจะเป็นเหตุอ้างกล่าวโทษว่าเสียชีวิตหรือเพราะโรคอื่นโดยปราศจากการสืบสวนโรคหรือชันสูตรศพ ดังนั้นความจริงจะเป็นเช่นไรก็สมควรที่จะทำการสำรวจและสืบสวนอย่างจริงจังให้ปรากฏความเป็นจริงต่อไปจากองค์กรกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ในวัคซีน

นอกจากนั้นยังมีประชาชนจำนวนมากมีสุขภาพแย่ลง มีคุณภาพชีวิตอ่อนแอลง โดยหาสาเหตุไม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากการเจ็บป่วยจากภาวะลองโควิด หรือผลกระทบจากวัคซีน หรือจากทั้ง 2 อย่างผสมกัน

ทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนไม่น้อย มีสุขภาพร่างกายไม่เหมือนเดิมโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ทำให้หลายคนมีอาการเหนื่อย ไม่สู้งาน เดินไม่ไหว สมาธิสั้น ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หลอดเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจ สมองอักเสบ มีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั้งมะเร็งและการเกิดเริม งูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติ หลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง[1]-[2]

ประการที่สี่ การใช้วัคซีนอาจไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ของกลุ่มธุรกิจตัดต่อพันธุกรรมไวรัส ควรให้ความรู้กับประชาชนในการสร้างความแข็งแรงต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

ในสถานการณ์ที่วัคซีนโควิดไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ และเมื่อในช่วงหลังโรคมีความรุนแรงน้อยลง ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ในขณะที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ประเทศไทยควรจะตั้งสติใช้มาตรฐานของวัคซีนในภาวะปกติ ไม่ใช่การรณรงค์ให้ประชาชนไปทดลองใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องกับการกลายพันธุ์ของไวรัส และควรให้สิทธิประชาชนได้รับรู้และได้รับการแจ้งความเสี่ยงอย่างครบรอบด้านที่เป็นผลกระทบจากวัคซีนอย่างเป็นธรรม และถึงเวลาที่เราจะต้องหันมาพึ่งพาตัวเองในการสร้างความแข็งแรงต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้มากขึ้น

ประการที่ห้า การระดมพลังในการเปิดเผยข้อเท็จจริงของประชาชน การตรวจหาความจริงอย่างถูกต้องและเหมาะสม และกรรมวิธีการรักษาของแพทย์สาขาต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากภัยอันตรายโรคลองโควิด และโรคที่เกิดจากผลกระทบจากวัคซีนได้

เราจึงมีมติร่วมกันที่จะจัดการสัมนาเปิดเวทีให้ผู้ป่วยและแพทย์ต่างสาขาผู้มีประสบการณ์ในการรักษามาพบกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้อันจะนำไปสู่หนทางในการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิจัยและรักษาโรคลองโควิดและโรคที่เกิดจากผลกระทบจากวัคซีน โดยจะแจ้งความคืบหน้าต่อไปในเร็ววันนี้

แถลงการณ์ร่วมโดย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

21 มกราคม 2567

แถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 ภาวะลองโควิด และ ผลกระทบจากวัคซีน